ทายาท บีแลนด์ ปั้น เมืองทองธานี ให้ผงาด
Loading

ทายาท บีแลนด์ ปั้น เมืองทองธานี ให้ผงาด

วันที่ : 16 เมษายน 2563
จิ๊กซอว์ รถไฟฟ้าหนุน โควิด-19 รับมือกระทบอีเวนต์
     
          อสังหาริมทรัพย์

          กว่า 3 ทศวรรษบนสังเวียนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเสี่ยช้าง-นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ถือเป็น ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอสังหาฯมายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว มานะกับการปลุกปั้นอภิมหาโปรเจกต์ "เมืองทองธานี" บนแปลงที่ดินผืนใหญ่ 4,500 ไร่ ให้กลายเป็น "เมืองขนาดย่อม" ตามนโยบายของการก่อตั้งบริษัทฯ ขึ้นมา ซึ่งความ "ฝัน" ของนายอนันต์ ปรารถนาที่จะให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ ครบครันไปด้วยที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบธุรกิจ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน

          อย่างไรก็ตาม ร่องรอยแห่งความสำเร็จและการ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของ บีแลนด์ นายอนันต์ ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อย อดทน จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ทำให้ภาระดอกเบี้ยของบริษัทฯพุ่งสูงถึง 52,000 ล้านบาท คำถาม หนี้ก้อนโตกว่าครึ่งแสนล้านบาท ในยุคนั้นต้องนับว่า "หินมาก" ในการแก้ไขหนี้ แต่บนความเหนื่อยก็นำพามาซึ่งความสำเร็จ สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้ จากการ เปิดศูนย์ อิมแพ็คฯ แสดงสินค้า ที่วันนี้กลายเป็นอาณาจักรที่มีนักธุรกิจและนักลงทุน พาเหรดเข้ามาปักหลักในเมืองทองธานีอย่างคึกคัก บางกอกแลนด์ จึงกลับมายิ่งใหญ่อีก

          ซึ่ง นายอนันต์ และบุตรชายทั้ง 2 คน คือ นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกแลนด์ฯ และนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นและทวงบัลลังก์ "เมืองทองธานี" ให้กลับมาสดใหม่และใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

          โดยหลังจากที่เคลียร์หนี้แล้วเสร็จ นายอนันต์ ได้วางโรดแมปธุรกิจไว้ 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจศูนย์ประชุมแสดงสินค้า ภายใต้ชื่อ "อิมแพ็คเมืองทองธานี" และธุรกิจขนส่งมวลชน

          *ขายที่ดิน-ทุ่มเงินกับการสร้างอาณาจักร

          ทั้งนี้ การจะทำให้เมืองทองธานี กลับมาผงาดอีกครั้งในธุรกิจอสังหาฯ และเป็นผู้นำด้านธุรกิจศูนย์ประชุมแสดงสินค้าระดับภูมิภาคนั้น การรักษา 'สมบัติ' ชิ้นใหญ่ที่บรรพบุรุษ (นายมงคล กาญจนพาสน์ บิดา นายอนันต์) ได้สะสมที่ดินและสั่งธุรกิจขึ้นมา ประกอบกับศักยภาพของเมืองทองธานี และทำเลรอบแจ้งวัฒนะ มีแนวโน้มที่จะเติบโตและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต การตัดสินใจของนายอนันต์ ตัดขายที่ดินผืนใหญ่บริเวณถนนพัฒนาการกว่า 1,300 ไร่ เพื่อระดมเงินที่ได้เกือบ 14,900 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นคืนเพื่อให้บริษัท อิมแพ็คฯกลับมาเป็นบริษัทลูกของบีแลนด์อีกครั้ง

          และการขับเคลื่อนการลงทุน ก็เดินหน้าต่อเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดธุรกิจ ค้าปลีก อย่างเช่น โครงการคอสโม บาซาร์ ซึ่งเป็นห้าง สรรพสินค้าเต็มรูปแบบสามารถให้บริการกับผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานีได้หลายแสนคน

          และยังเติมเต็มในเรื่องไลฟ์สไตล์ให้กับกลุ่มลูกค้าในโครงการและสัญจร ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เปิดโครงการบีไฮฟ์ ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ชูคอนเซ็ปต์ Walk to shop ที่ลูกค้าสามารถเดินออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือขับรถเพียงระยะใกล้ เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งแรกและ แห่งเดียว บนถนนบอนด์สตรีท ทำเลทองใจกลางเมืองทองธานี ให้บริการพื้นที่ร้านค้ากว่า 100 ร้านค้า พร้อมความสะดวกสบายด้วยบริการที่จอดรถกว่า 600 คัน

          * จับตา'จิ๊กซอว์'รถไฟฟ้าหนุนแอสเสทพุ่ง 3 เท่าตัว

          ประเด็นที่น่าสนใจ และจะเป็นโครงการที่สร้างอนาคตให้กับเมืองทองธานี มากยิ่งขึ้น คือ ความชัดเจนเรื่อง ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู 2 สถานี (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (กม.) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี และเชื่อมมาถึงอาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์ และริมทะเลสาบเมืองทองธานี จะดึง "เม็ดเงินมหาศาล" เข้าสู่โครงการ โดยผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ 1. จะเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายในโครงการเพิ่มขึ้น 3 เท่า ราคาที่ดินจะปรับสูงขึ้นเป็น 3 แสนบาทต่อตารางวา จากที่อยู่ประมาณ 1 แสนบาทต่อตารางวา เทียบได้กับที่ดินติดถนนใหญ่ 2. ยังช่วยดึงคนเข้ามาใช้บริการในอิมแพ็ค ไม่ต่ำกว่า 20-30% จากจำนวนผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตรวมกว่า 10 ล้านคนต่อปี

          และเพื่อให้ทันกับ "กำลังซื้อ" ที่จะไหลเข้ามาสู่ เมืองทองธานี เบื้องต้น บางกอกแลนด์ เตรียมลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯบนแลนด์แบงก์ที่เหลืออีก 600 ไร่ คาดต้องใช้เงินในส่วนนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท โดยในแผนที่จะเกิดขึ้น จะมีทั้งโครงการโซนริมทะเลสาบเมืองทองธานี โซนรอบอิมแพ็ค และโซนรอบคอสโม บาซาร์ แหล่งชอปปิ้งและศูนย์รวมความบันเทิง โดยจะร่วมลงทุนกับ บีทีเอสกรุ๊ป (ของนายคีรี กาญจนพาสน์)

          * อิมแพ็ค กับการรับมือวิกฤตโควิด-19

          อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 แม้จะร้ายแรง แต่เป็นความรุนแรงที่ไม่ระบาดไปทั่วโลก ต่างกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่หนักตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และเชื้อไวรัสได้กระจายไปเกือบทั่วโลก ส่งผลธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างหนัก ขณะที่เศรษฐกิจของไทยปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 5.8% ซึ่งอีเวนต์และการจัดงานต่างๆ ต้องเลื่อนออกไปภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้แต่อิมแพ็คศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ ต้องปิดการให้บริการ ซึ่งแน่นอนมหันตภัยจากโควิด-19 ครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบบิสิเนสโมเดลการสร้างรายได้จากการจัดงาน

          ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้บริหารที่รับผิดชอบบริษัทอิมแพ็ค เคยฉายภาพว่า ภายใน 3 ปี จะเพิ่มยอดจัดงานให้เพิ่มขึ้น 15-20% และการผลักดันให้เกิดรายได้ในส่วนอื่นๆเข้ามาเพิ่มขึ้น อย่างเช่น รายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม มาจากธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ซึ่ง ตามแผนที่วางไว้ จะเห็นตัวเลขภายใน 3 ปีระดับ 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เงินหมุนเวียนจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 700 ล้านบาท

          จากนี้ไป ความยิ่งใหญ่ของ "เมืองทองธานี" กับบทบาทของผู้นำรุ่นที่ 3 ท่ามกลางภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนไป และด้วยสถานการณ์วิกฤต "โควิด-19" อาจทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ ต้องปรับแผนธุรกิจ เพื่อรองรับกับผลกระทบที่จะตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!! 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ