อสังหาฯภาคอีสานชะลอตัวต่อเนื่อง จี้ ยกเลิกLTV-ลดภาษี หวังกระตุ้น
Loading

อสังหาฯภาคอีสานชะลอตัวต่อเนื่อง จี้ ยกเลิกLTV-ลดภาษี หวังกระตุ้น

วันที่ : 11 มิถุนายน 2563
REIC เผย ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ภาคอีสานชะลอตัวต่อเนื่อง
          ศูนย์ข้อมูลเผยตัวเลขอสังหาฯ ภาคอีสาน 5 จังหวัดจำนวน 14,853 หน่วย ตลาดชะลอตัวต่อเนื่องหลายปี ยอดขายน้อย สงผลสต๊อกเหลือเพิ่ม แนะจังหวัดใหญ่ลงทุนระมัดระวัง ด้านเอกชนวอนรัฐบาลขยายมาตรการกระตุ้นบ้านเกินกว่า 10 ล้าน ดึงคนมีเงินซื้อบ้าน ปลดล็อก LTV ช่วยธุรกิจ

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภาวะการขายได้น้อยลง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในจังหวัดใหญ่ๆจะมีหน่วยเหลือขายสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2563 ซึ่งผู้ประกอบการควรมีความระมัดระวัง มองทิศทางการลงทุนและเลือกทำเลให้ดีและสามารถสร้างยอดขายได้ ส่วนในจังหวัดเล็กๆ อาจไม่ประสบปัญหาเพราะมีการเปิดตัวน้อย อยู่แล้ว

          ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้รายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย

          จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่ 5 จังหวัด มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายจำนวนรวมประมาณ 14,853 หน่วย แบ่งเป็นนครราชสีมา 6,876 หน่วย ขอนแก่น 4,031 หน่วย อุดรธานี 1,727 หน่วย อุบลราชธานี 1,464 หน่วย และมหาสารคาม 755 หน่วย

          สำหรับจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบว่า ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างเสนอขายจำนวนทั้งสิ้น 129 โครงการ จำนวน 6,876 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 24,805 ล้านบาท ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ -0.9 โดยมีโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังเพียง 1,291 หน่วย แบ่งเป็นอาคารชุด 104 หน่วย และบ้านจัดสรร 1,187 หน่วย มีจำนวนหน่วยสร้างเสร็จเหลือขาย จำนวน 1,442 หน่วยมูลค่า 5,552 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลฯ ประมาณการว่าในปี 2563 จะมีการเปิดขายโครงการใหม่ประมาณ 1,100 หน่วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรร และคาดการณ์ว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ในตลาด 6,755 หน่วย ในปี 2563 อัตราดูดซับสูงสุดประมาณร้อยละ 1.1 ลดลงจากครึ่งหลังปี 2562 ประมาณ 1.5%

          ส่วนจังหวัดขอนแก่นเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกจังหวัดหนึ่ง และมีทิศทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนพื้นที่หนึ่ง โดยภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยจังหวัดขอนแก่น ณ ครึ่งหลังปี 2562 อุปทานภาพรวมมีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวน 79 โครงการ รวม 4,031 หน่วย ในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่ขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังจำนวน 435 หน่วย มูลค่า 1,268 ล้านบาท ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 ร้อยละ -41.1 มีหน่วยเหลือขายจำนวน 3,596 หน่วย มูลค่า 11,574 ล้านบาท และมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขาย จำนวน 804 หน่วย มูลค่า 2,737 ล้านบาท อัตราการดูดซับในช่วงครึ่งหลังปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 และคาดว่าในปี 2563 จะลดลงเหลือร้อยละ 1 ส่วนโครงการเปิดขายใหม่คาดว่าจะไม่เกิน 600 หน่วย แต่ด้วยจำนวนอุปทานสะสมรอการขายจะส่งผลให้ตลาดโดยรวมชะลอตัว

          ส่วนจังหวัดอุดรธานี มีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวน 44 โครงการ รวม 1,727 หน่วย มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 177 หน่วย และมีหน่วยเหลือขาย 1,550 หน่วย คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย 6,092 ล้านบาท, จังหวัดอุบลราชธานี มีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวน 42 โครงการ รวม 1,464 หน่วย มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 201 หน่วย และมีหน่วยเหลือขาย 1,263 หน่วย คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย 3,727 ล้านบาท

          จังหวัดมหาสารคาม มีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวน 21 โครงการ รวม 755 หน่วย มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 88 หน่วย และมีหน่วยเหลือขาย 667 หน่วย คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย 1,786 ล้านบาท โดยทั้ง 3 จังหวัดเข้าสู่ภาวะทรงตัว

          นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล  นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการชะลอตัวต่อเนื่องมาหลายปี ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังทำให้มีซัปพลายใหม่ออกสู่ตลาดไม่มาก สต๊อกที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยเหลือขายในผังโครงการที่กระจายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นเมืองที่ ไม่ได้พึ่งพิงการท่องเที่ยวและไม่ได้พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ตลาด ชะลอตัวไม่มากนัก

          อย่างไรก็ตาม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่างเสนอให้รัฐบาลปรับเพดานมาตรการกระตุ้น อสังหาฯ จากบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น เพื่อกระตุ้นให้คนมีเงินซื้อบ้านแทนการกระตุ้นเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และลดภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อช่วยผู้ประกอบการให้มีความแข็งแรงขึ้น การยกเลิกมาตรการ LTV ซึ่งปัจจุบันการเก็งกำไรไม่มีแล้ว