จี้รัฐหาทางออกลูกหนี้รีไฟแนนซ์หวั่นเป็นNPL80%
Loading

จี้รัฐหาทางออกลูกหนี้รีไฟแนนซ์หวั่นเป็นNPL80%

วันที่ : 2 กรกฎาคม 2563
วอนรัฐ หาทางออกลูกหนี้รีไฟแนนซ์
          บิ๊ก AMC จี้รัฐ เร่งหาทางออก ลูกหนี้"รีไฟแนนซ์" ลดวงเงินผ่อนชำระ แยกสินเชื่อบุคคลธุรกิจเอสเอ็มอี" ลุ้นไตรมาส 4 ห่วงเอ็นพีแอลไหลทะลัก 80% เหตุกิจกรรมเศรษฐกิจไม่ฟื้นเต็ม100%

          จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่และอย่างไร เพราะแม้ว่าสถาน การณ์ในไทยจะดีขึ้น ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมานานกว่า 1 เดือน แต่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          ขณะที่มาตรการของรัฐในการช่วยเหลือประชาชน กำลังจะสิ้นสุดลง ทั้งการจ่ายเงินเยียวยา ที่จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ ระยะ1 ซึ่งจะครบกำหนด 3 เดือนและ 6 เดือนตั้งแต่สิ้นมิถุนายน และสิ้นเดือนตุลาคม จึงมองว่าครั้งนี้ จะมีตัวเลขที่ออกมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) มากเป็นประวัติศาสตร์ จากลูกหนี้ที่เข้าปรับโครงสร้างหนี้15.2 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 6.84 ล้านล้านบาท

          เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดว่า จะหดตัวลงถึง 8.1% หรือความสูญเสียที่จะหายไป 1.3 ล้านล้านบาท จากมูลค่าจีดีพีที่ 16 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้ของประชาชนและครัวเรือนยังไม่กลับมา จึงคาดการณ์กันว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นมหาศาลเช่นกัน

          นายประชา ชัยสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัดเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ส่วนตัวมีความเป็นห่วงว่า ลูกหนี้ที่จะพ้นมาตรการพักหนี้ อาจจะไหลเป็นเอ็นพีแอล 80% หากไม่ได้รับการช่วยเหลือต่อ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นเต็ม100% ซึ่งหากจำกันได้ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมืองไทยเคยมีประสบการณ์พักหนี้ 2 ปีสำหรับลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยให้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้เดิมแฮร์คัตหนี้ 50% ซึ่งมีหลายสถาบันการเงินสนองนโยบายดังกล่าว

          จากนั้นให้ธนาคาร ออมสินปล่อยกู้แล้วนำวงเงินปิดบัญชีกับกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เดิม ซึ่งระหว่าง 2 ปีห้ามทวงถามหนี้ แต่ระหว่างนั้นดอกเบี้ยยังเดินตลอดเวลา ในอัตรา12-15% หากลูกหนี้รายไหนไม่สามารถหาเงินกู้ก้อนใหม่ปิดบัญชีกับเจ้าหนี้เดิมในที่สุดหนี้ตามคำพิพากษาก้อนนี้ก็จะถูกส่งให้เจ้าหนี้เดิมทวงถามหนี้ต่อ ซึ่งลูกหนี้ต้องรับภาระยิ่งหนักกว่าเดิมอีก

          "โครงการนี้คล้ายกับแนวทางพักหนี้ปัจจุบัน แต่เป็นการพักหนี้กลุ่มโดนฟ้องคดีตามคำพิพากษาแล้ว แต่ปัจจุบันเป็นลูกหนี้ที่ยังสามารถผ่อนชำระค่างวด แต่การพักนี้โดยแขวนหนี้ไว้เป็นแค่การยืดระยะเวลาชำระหนี้แต่ไม่ได้ช่วยลูกหนี้ปลดภาระแต่อย่างใด"

          นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการจัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(บสก.)กล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือเกือบ 40%ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ 15 ล้านล้านบาท (คำนวณจาก 15.2 ล้านราย ยอดหนี้ 6.84 ล้านล้านบาท) ซึ่งหลังหมดมาตรการพักหนี้ คงจะมีการผิดนัดชำระหนี้(Default) ในบางรายที่ผ่อนต่อไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องแยกลูกหนี้เป็น 2 ส่วนในการให้ความช่วยเหลือต่อไปคือ

          1.สินเชื่อส่วนบุคคล ต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือลดวงเงินผ่อนชำระเพื่อยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป 2.สินเชื่อเพื่อธุรกิจกับเอสเอ็มอี ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่ สำหรับการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบ หรือสถานที่หรือ ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งต้องใช้ธนาคารเป็นตัวหลัก และมีมาตรการเสริมจากภาครัฐเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อ

          ในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) พร้อมจะเป็นตัวเสริม กรณีลูกหนี้รายที่ไม่ไหวจริงๆ (บสก.กับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM หรือเอเอ็มซีในระบบสามารถเข้าไปประมูลซื้อเพื่อช่วยรักษาราคาทรัพย์สินไม่ให้ราคาตก) นอกเหนือจากธนาคารเจ้าหนี้ซึ่งเป็นตัวหลักเจรจาหนี้ ปล่อยสินเชื่อหรือเม็ดเงินใหม่ หรือจะมี บสย.ค้ำประกันหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆแล้ว

          นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ปหรือ CHAYO กล่าวว่า เข้าใจว่าธปท.เห็นสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้ลดลงหรืออาจจะหายไป จึงมีมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 ออกมา เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดไป ดังนั้นช่วงที่เหลือไตรมาส 3-4 จำเป็นต้องเดินหน้าช่วยลูกหนี้ต่อ โดยแนวทางที่เสนอมองว่า ควรจะแบ่งลูกหนี้ตามประเภทลูกหนี้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล ดอกเบี้ยจาก 28% ลดเหลือ15% ถ้ายอดหนี้อยู่ที่ 1 ล้านบาท ยอดผ่อนชำระต่อเดือนสัก 1-2 พันบาทต่อเดือน (แทนที่จะผ่อนหลักหมื่นบาทต่อเดือน) และยืดระยะเวลาออกไป

          ส่วนสินเชื่อบ้าน ขยายดอกเบี้ย 2-3% ช่วงผ่อนชำระ 2-3 ปีแรกธนาคารจะคิดดอกเบี้ยอัตรา 2-3% จึงเสนอให้ขยายดอกเบี้ยสองปีแรกออกไปก่อน เพื่อยืดระยะเวลาผ่อนเป็น 30ปี เพื่อที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมากนัก ส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 6-8% สามารถยืดเวลาออกไป แต่เอสเอ็มอีจำเป็นต้องมีสภาพคล่องหมุนเวียนด้วย แต่สินเชื่อธุรกิจอาจจะช่วยยากหากอยู่กับธนาคารของรัฐซึ่งมีต้นทุนแพง

          "ควรยืดเวลาอีก 6 เดือนหรือ 1 ปีสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือระยะแรก จากนั้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 24% เหลือ 15% ต่อปี  และหากเอ็นพีแอลไหลเพิ่มมาก ก็ยังมีเอเอ็มซีกว่า 20 บริษัทที่ให้บริการรับซื้อและบริหารจัดการหนี้อย่างสม่ำเสม (Active) เพียงแต่ภาครัฐสนับสนุนด้านแหล่งทุนและเจรจากับสถาบันการเงินในการซื้อโดยออกเป็นตั๋ว P/N ระยะเวลา 1ปี"

          หลังหมดพักหนี้ คงจะ Default ในบางรายที่ผ่อนต่อไม่ได้