สมาคมธนาคารหวั่น เอ็นพีแอล ทะลัก
Loading

สมาคมธนาคารหวั่น เอ็นพีแอล ทะลัก

วันที่ : 2 กรกฎาคม 2563
จี้แบงก์ออกมาตรการช่วย-เอกชนชงขอยืดหนี้อีก2ปี

          คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ปรับจีดีพีไทยติดลบสูงสุด 8% จากเดิม 5% สมาคมธนาคารไทย เตรียมแผนรับมือหนี้เสียบานช่วงปลายปี ให้ทุกแบงก์ติดตามลูกหนี้เพื่อช่วยเหลือหรือหามาตรการผ่อนปรน สภาอุตสาหกรรมฯ ชงขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออก 2 ปี จากปัจจุบันให้แค่ 6 เดือน

          นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ปี 2563 ทั้งปีลบ 5-8% จากครั้งก่อนคาดติดลบ 3-5% การส่งออกคาดติดลบ 7-10% และเงินเฟ้อคาดติดลบ 1-1.5%

          ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 น่าจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก เนื่องจากประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศยังรุนแรง ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และประเทศอื่น

          "กกร.เป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนแอกว่าคาด"

          ส่วนอีกปัญหาที่จับตาคือหนี้สินภาคครัวเรือนจะปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ส่งผลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยมองว่าไตรมาส 4/2563 จะเห็นตัวเลขหนี้เสียที่ชัดเจน เพราะการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้เป็นเวลานานไม่เคยเกิดขึ้นกับไทยมาก่อน

          หากลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ไหวแบงก์ก็พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่ง ขณะนี้แบงก์พยายามติดต่อลูกหนี้ตลอดเวลา แต่จะมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยทั้งหมด 16 ล้านราย กลับมาชำระตามปกติได้ถึงครึ่งหนึ่งหรือไม่ เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

          อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนในระดับสูงและเกินกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ 11% จากที่กำหนดระดับเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ 8.5% และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดที่ 10.5% โดยเดือนเม.ย. ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท

          ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ

          เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และภาครัฐจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายๆ รอบ
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ