แทรมขอนแก่น ไปต่อลำบาก
Loading

แทรมขอนแก่น ไปต่อลำบาก

วันที่ : 2 กันยายน 2563
ขอรัฐบาลหนุนงบ4พันล้าน กรมรางให้ลดพื้นที่ศูนย์ซ่อม

          นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า พลตรีชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็มท์ จำกัด (KKTS) พร้อมด้วยนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและองค์กรสัมพันธ์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มารายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญท่าพระ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังติดปัญหา 2 ส่วน ทำให้โครงการดำเนินการ ต่อไม่ได้ได้แก่ 1.เงินทุนที่จะใช้ดำเนินโครงการ โดยขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนประมาณ 3-4 พันล้านบาท

          นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า 2.ที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้สร้างโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ประมาณ 200 ไร่ เรื่องนี้เบื้องต้นทางกระทรวงเกษตรฯ มองว่าเป็นขนาดพื้นที่มากเกินไปจะสามารถปรับลดลงได้หรือไม่ จึงขอให้กลับไปทบทวนปรับแผน และนำกลับมาเสนอ ขร.อีกครั้ง เพื่อนำไปหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขร.ยังอยากเห็นโครงการแทรมขอนแก่นเกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน ซึ่งเรื่องใดที่ขร. จะสามารถช่วยผลักดันให้ได้ก็จะทำอย่างเต็มที่

          ด้านพลตรีชาติชาย กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรคืบหน้าจากเดิม เพราะติดปัญหาเรื่องที่ดินและการเจรจาทางการเงินกับสถาบันทางการเงินของประเทศจีนซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ โดยขณะนี้ทำเรื่องขออนุญาตไปที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แล้ว คงต้องรอเวลา รวมทั้งต้องขอรับการสนับสนุนเงินจากรัฐบาลด้วย จากเดิมที่ท้องถิ่นและภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นจะระดมทุนกันเอง  เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อการระดมทุน  ส่วนเรื่องที่ดินที่จะใช้ทำ Depot นั้น สาเหตุที่ต้องใช้พื้นที่ 200 ไร่ เพราะต้องทำเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อหารายได้เข้าโครงการด้วย อีกทั้งในอนาคตตามแผนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะมีรถไฟฟ้าผ่านจุดตัดบริเวณศูนย์วิจัยข้าวอีก 4 สาย ซึ่งจะได้ไม่ต้องสร้างศูนย์ซ่อมฯ เพิ่มอีก

          พลตรีชาติชาย กล่าวต่อว่า เวลานี้ยังไม่ทราบว่าจะปรับแผนอย่างไร คงต้องรอจนกว่ากระทรวงเกษตรฯ จะปฏิเสธเรื่องพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งคงต้องติดตามดูว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถได้ข้อสรุปทั้งเรื่องที่ดิน และการเจรจาเรื่องการกู้เงินหรือไม่ หากจบได้ก็ยังคงคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดประมาณกลางปี 64 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณกลางปี 67 แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุป น่าจะส่งผลให้กรอบเวลาการดำเนินงานต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งเวลานี้ถือว่าล่าช้าจากแผนเดิมแล้วที่จะก่อสร้างกลางปี 63 แล้วเสร็จและเปิดบริการปี 66
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ