เปิดไฮไลต์สายสีชมพู&เหลือง
Loading

เปิดไฮไลต์สายสีชมพู&เหลือง

วันที่ : 23 พฤศจิกายน 2563
ข้ามด่วนวัชรพลสูง25.7เมตร ยันปลอดภัยไม่เสียวชมวิวสวย
         
          รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าวสำโรง ระยะทาง 30 กม. ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ว่า จากข้อมูลเมื่อสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 64.23% แบ่งเป็น งานโยธา 66.54% และงานระบบรถไฟฟ้า 61.07% ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คืบหน้า 65.96% แบ่งเป็น งานโยธา 68.31% และงานระบบรถไฟฟ้า 62.91% ทั้งนี้ การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการยังถือว่าเป็นไปตาม แผนงานที่วางไว้

          รายงานข่าวจาก รฟม. แจ้งต่อว่า ขณะนี้ทั้ง 2 โครงการกำลังเร่งติดตั้งคานทางวิ่ง (Guideway beam) ที่จะใช้สำหรับให้รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งคร่อมบนคาน โดยสายสีชมพู ติดตั้งแล้วประมาณ 1,300 คาน จากทั้งหมด 2,528 คาน คิดเป็นประมาณ 50% ขณะที่สายสีเหลือง ติดตั้งแล้วประมาณ 1,464 คาน จากทั้งหมด 2,437 คาน คิดเป็นประมาณ 60% ทั้งนี้ในส่วนที่ติดตั้งคานทางวิ่งแล้วจะทยอยติดตั้งทางเดินฉุกเฉิน (Emergency walkway) ซึ่งเป็นทางเดินที่ใช้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อเกิดรถไฟฟ้าเสียระหว่างทาง ก็จะอพยพผู้โดยสารลงเดินตามทางเดินดังกล่าว เพื่อไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณกลางปี 64

          รายงานข่าวจาก รฟม. แจ้งอีกว่า อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย มีจุดไฮไลต์ซึ่งเป็นทางวิ่งรถไฟฟ้าสูงที่สุดอยู่ที่สายสีชมพู โดยอยู่บริเวณข้ามทางด่วนวัชรพล ในระดับ 25.71 เมตรจากผิวจราจร ส่วนสายสีเหลือง จุดสูงสุดของทางวิ่งอยู่บริเวณแยกทางยกระดับศรีกรีฑา และสถานีกรีฑา ในระดับ 25 เมตรจากผิวจราจร ทั้งนี้มั่นใจได้ว่าเมื่อรถไฟฟ้าวิ่งผ่านในจุดนี้ ประชาชนจะได้รับความปลอดภัยแน่นอน จะไม่รู้สึกถึงความหวาดเสียว เพราะในจุดนี้รถไฟฟ้าจะลดความเร็วลง ซึ่งจะทำให้ได้รับความรู้สึกเหมือนนั่งรถไฟฟ้าเส้นทางปกติ ที่สำคัญยังสามารถชมวิวทิวทัศน์โดยรอบกรุงเทพฯ ในระหว่างทางได้ด้วย

          รายงานข่าวจาก รฟม. แจ้งด้วยว่า สำหรับความสูงของทางวิ่งรถไฟฟ้าโมโนเรลในระดับ 25.71 เมตรจากผิวจราจร ยังไม่ถือว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยจุดที่สูงที่สุดอยู่ที่บริเวณสถานีช้างเอราวัณ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่มีความสูงถึง 28 เมตร รองลงมาจะอยู่ที่บริเวณสถานีห้าแยกลาดพร้าวไปสถานีหมอชิตที่จะต้องข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่คูคต ซึ่งมีความสูงที่ 26 เมตร
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ