ดีป้า เร่งดิจิทัลวัลเลย์ มั่นใจ อีอีซี ฮับอาเซียน
Loading

ดีป้า เร่งดิจิทัลวัลเลย์ มั่นใจ อีอีซี ฮับอาเซียน

วันที่ : 26 พฤศจิกายน 2563
ดีป้า ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วประเทศรวมถึงอีอีซี 5 กลุ่ม
          การผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ดังนั้นจึงเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแล้วด้วย

          ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวในหัวข้อ "Overview EEC Market in  Thailand" ของหลักสูตร EEC Prime จัดโดย บริษัทพรีโม เรียลเตอร์ จำกัด ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ซึ่งดีป้าจะร่วมผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วประเทศรวมถึงอีอีซี โดยแยก 5 กลุ่ม คือ

          1.ซอฟต์แวร์ 2.ฮาร์ดแวร์ 3.ดิจิทัลคอนเทนท์ 4.อุปกรณ์โทรคมนาคมหรือดาวเทียม 5.ดิจิทัลเซอร์วิส

          ทั้งนี้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมีมูลค่า 640,000 ล้านบาท ขยายตัว 10.4% ต่อปี โดยปี 2563  มีแนวโน้มขยายตัวเพราะโควิด-19 ดังนั้นรัฐจึงมี แผนลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่าน สายไฟเบอร์ออฟติกปี 2562 เพื่อสนับสนุนอีอีซี เป็นศูนย์กลางอาเซียน รวมทั้งผลักดันเขตส่งเสริม อุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย "ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์" พื้นที่ 569 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อให้เอกชนลงทุนพัฒนา ศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูงและนวัตกรรม เช่น การพัฒนา 5จี เอไอ แอนิเมชั่น บิ๊กดาต้า

          นอกจากนี้มีพื้นที่พัฒนาโครงการ "ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์" 30 ไร่ ซึ่งดีป้าลงทุน โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาสตาร์ทอัพในลักษณะดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนที่ขับเคลื่อนกับเอกชน  และภาคการศึกษา เพื่อเป็นการดึงดูด สร้าง แรงจูงใจ และความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์

          การลงทุนใน "ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์" จะเชื่อมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ทั้งในกลุ่ม IoT, Data Science, AI, Robotics, 5G และ Cloud เข้ากับการพัฒนาสตาร์ทอัพ ดิจิทัล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ก่อนนำไปสู่การทดสอบ ทดลองก้าวเข้าสู่ ตลาดเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ

          1.อาคาร depa Digital One Stop Service เป็นอาคารหลังแรกที่สร้างเสร็จ เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นสำนักงานดีป้าสาขาภาคตะวันออก

          2.อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre เพื่อศูนย์แลกเปลี่ยน ความรู้ จะมีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ และไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ ซึ่งการก่อสร้างคืบหน้ามาก

          3.อาคาร Digital Innovation Centre ที่จะ เป็นศูนย์นวัตกรรม จะมีพื้นที่สำนักงานของ สตาร์ทอัพ รวมถึงพื้นที่รองรับการพิมพ์ 3D ศูนย์นวัตกรรมไอโอที บิ๊กดาต้า เซ็นเตอร์ ห้องปฏิบัติการเอไอ ห้องปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ สมาร์ท ดีไวซ์ และพื้นที่การทำงานของสตาร์ทอัพ  ซึ่งอยู่ขั้นตอนหาผู้ก่อสร้าง

          4.อาคาร Digital Edutainment Complex  จะมีพื้นที่โรงเรียนหุ่นยนต์ พื้นที่แข่งโดรน ทดสอบหุ่นยนต์ พื้นที่รองรับการออกแบบ สนามอีสปอร์ต เออาร์ วีอาร์ เอ็มอาร์

          5.อาคาร Digital Go Global Centre จะเป็นพื้นที่รองรับการจัดแสดงนิทรรศการ จัดการประชุม

          ทั้งนี้ปัจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาจะเสร็จในปี 2566-2567 โดยสิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุนจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% รวมทั้งมีสมาร์ทวีซ่า และวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งต้องจูงใจมากเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาลงทุน

          ภาครัฐลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟเบอร์ออพติกเพื่อสนับสนุนให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ