4แบงก์ใหญ่ ชะลอขายหนี้ ภาวะไม่เอื้อ ถูกกดราคา มั่นใจคุมอยู่
Loading

4แบงก์ใหญ่ ชะลอขายหนี้ ภาวะไม่เอื้อ ถูกกดราคา มั่นใจคุมอยู่

วันที่ : 14 ธันวาคม 2563
4 แบงก์ใหญ่ เร่ง บริหารจัดการหนี้ส่งท้ายปีหวังคุมหนี้เสีย ไม่ให้เพิ่มขึ้น
          "กรุงไทย"เน้นคุณภาพ ลดปล่อยกู้โรงสี-สหกรณ์

           "4 แบงก์ใหญ่" เร่ง บริหารจัดการหนี้ส่งท้ายปีหวังคุมหนี้เสีย ไม่ให้เพิ่มขึ้น "กรุงไทย"ชี้การขายหนี้เสียยังอยู่ในแผนแต่ขอดูภาวะ ตลาด หากราคาต่ำอาจไม่คุ้ม ขณะที่ แบงก์กสิกรไทย-กรุงเทพ ยังเน้นบริหารเอง เป็นหลัก ส่วนทีเอ็มบีตั้งเป้าคุมเอ็นพีแอล ปีนี้ไม่เกิน 3% ชะลอแผนขายหนี้หวั่นถูกกดราคา

          นายผยง ศรีวนิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพหนี้ และดูแลลูกหนี้ของธนาคาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารทำต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล คาดว่าจะทรงตัว หากเทียบ กับช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.21% เนื่องจากลูกหนี้บางส่วน ยังได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารตามมาตรการต่างๆ

          ทั้งนี้แผนการบริหารหนี้ของธนาคาร และการขายหนี้เสียออกมาสู่ตลาด ก็ถือว่าเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในแผนของธนาคาร เพื่อบริหารหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ภาวะแบบนี้ต้องยอมรับว่า เป็นช่วงที่หนี้ที่ขายทอดตลาด มีราคาถูก เพราะอุปทานอุปสงค์ไม่สอดคล้อง กัน ดังนั้นหากราคาต่ำมากราคาไม่เหมาะสม ธนาคารก็ยังไม่ขายออกมา

          "ขายหนี้ตอนนี้ ก็ขายหมู เพราะเป็นเทศกาลขายของดีราคาถูก ดังนั้นการขายหนี้ ทอดตลาด เราจำเป็นต้องดูแนวโน้ม ราคาตลาดด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ หากราคาไม่ได้ เราก็ไม่ขาย ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ธนาคารพยายามบริหารคุณภาพของพอร์ต สินเชื่อ โดยพยายามถอยออกมาจากพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูง และมีความกระจุกตัว เช่น การปล่อยกู้ในอุตสาหกรรมข้าว ที่อดีตมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของอุตสาหกรรมรวม หรือการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มสหกรณ์ โดยไม่มีหลักประกันที่สูงถึง 70,000 ล้านบาท วันนี้เราลดลงมามาก เหลือปล่อยกู้สหกรณ์เพียง 3 หมื่นล้านบาท และเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน เหล่านี้ก็ทำให้ความเสี่ยงของตลาดลดลง"

          นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า การบริหารหนี้เสียของธนาคาร ยังคงเป็นทิศทางที่ธนาคารยังคงเข้มงวด แม้ในระยะ นี้หนี้เสียอาจยังไม่ได้เพิ่มมากนักเพราะ ธนาคารมีการเข้าไปดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดความสูญเสีย ที่มีต่อลูกค้าให้มากที่สุด ดังนั้นเชื่อว่าหนี้เสีย ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

          ส่วนกลยุทธ์การบริหารหนี้เสียของธนาคาร ธนาคารยังคงใช้นโยบายนำหนี้เสีย มาบริหารเอง ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ในการบริหารหนี้ต่อเนื่อง และยังเชื่อมั่นว่าธนาคารยังสามารถบริหารหนี้ได้มากกว่าการตัดขายหนี้เสียเหมือนอดีต

          นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารยังคงยึดแนวทางการบริหารหนี้เสียอย่างเข้มงวด และเน้นการบริหารหนี้เสียอย่างระมัดระวัง เพื่อลดโอกาสการเกิดหนี้เสียใหม่ในระบบ ทั้งการเข้าไปดูแลลูกค้า และมีการบริหารดูแลหนี้เสียอย่างเข้มข้นต่อเนื่องไปจนถึง ปี 2564 แต่การบริหารหนี้ดังกล่าว ธนาคารยังคงใช้กลยุทธ์บริหารหนี้เสียมากกว่าการขายหนี้ เพราะมองการบริหารหนี้เอง น่าจะเป็นจุดคุ้มทุนมากกว่า และเชื่อว่า หนี้เสียปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่บริหารได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ไปสู่ การขายหนี้ทอดตลอด

          "วันนี้กลยุทธ์เรายังเน้นบริหารเอง ก็ยังเป็นแบบนั้นเหมือนอดีตที่เราเคยทำ เพราะเราบริหารเอง เราก็บริหารได้ และดูแลลูกหนี้ได้ด้วย และเชื่อว่าภายใต้ มาตรการของธปท.ที่ผ่อนปรน จะช่วยให้แบงก์เข้าไปดูแลลูกหนี้ และลดโอกาสเกิดหนี้เสียใหม่ได้

          นายปิติ ตัณฑเกษม ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ไตรมาส 4ปีนี้ ธนาคารยังคงเน้น การสำรองหนี้เสีย ในระดับสูงต่อเนื่อง จากช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับหนี้เอ็นพีแอลที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น และคาดจะเห็นธนาคารต้องสำรองหนี้เสียระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 เหมือนทุกธนาคาร

          ขณะที่ปัจจุบันหนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.3-2.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก ด้วยการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าสิ้นปี 2563 ธนาคารบริหารหนี้เสียไม่เกินระดับที่ 3% ส่วนแผนการตัดขายหนี้เสียในช่วงที่เหลือของปีนี้คงชะลอแผนออกไปก่อน เพื่อไม่ให้หนี้เสียกระจุกตัวในท้องตลาดจนทำให้ราคาสินทรัพย์ถูกกดดัน

          "ขายหนี้ตอนนี้ ก็ขายหมู เพราะเป็นเทศกาล ขายของดีราคาถูก"  ผยง ศรีวนิช

          "ธนาคารยังสามารถบริหารหนี้ได้มากกว่าการตัดขายหนี้เสีย"      ขัตติยา อินทรวิชัย