รัฐบาลเตรียมกู้อีก 7 แสนล้าน เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ
Loading

รัฐบาลเตรียมกู้อีก 7 แสนล้าน เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ

วันที่ : 25 ธันวาคม 2563
ในปีงบประมาณนี้ ยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งรายละเอียด ทั้งหมดสำนักงบประมาณจะนำเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันที่ 5 ม.ค.64
          นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบงบประมาณประจำปี 65 ตามผลการหารือของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มี สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีวงเงินงบประมาณ รายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 64 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% เป็นไปตามประมาณการจัดเก็บ รายได้ที่ลดลงเหลือ 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.5%
 
          อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณนี้ ยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งรายละเอียด ทั้งหมดสำนักงบประมาณจะนำเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันที่ 5 ม.ค.64

          ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564 โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 โดยเห็นว่าระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

          ทั้งนี้ หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น นั้น มีเป้าหมายหลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายปี 64 ได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบช่วง คือ ร้อยละ 1-3 ให้เป็นรูปแบบเดียวกับปี 63 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ เดือน ก.ย. 63 เท่ากับ-0.9 และคาดการณ์ว่าในปี 64 อัตราเงินเฟ้อจะเท่ากับ 1.0

          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะร่วมกัน ติดตามความเคลื่อนไหวเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

          นายอนุชา กล่าวว่า การกำหนดอัตราเงินเฟ้อในลักษณะนี้จะ ช่วยให้สามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อีกด้วย