ซึมยาว!ตลาดที่อยู่อาศัยปี 64 ยูนิตเหลือขายเพิ่ม-ยอดต่างชาติหาย
Loading

ซึมยาว!ตลาดที่อยู่อาศัยปี 64 ยูนิตเหลือขายเพิ่ม-ยอดต่างชาติหาย

วันที่ : 9 มกราคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ผลกระทบจากโควิด รอบสอง จะทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมีการปรับตัว เปิดขายโครงการใหม่ลดลง
          ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบสองของ COVID-19 สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดตลาดที่อยู่อาศัยปี  2564  จะขยายตัว 3.5-4.5% ซึ่งเป็น การขยายตัวจากฐานที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมือง ความผันผวนทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ทำให้มีความเสี่ยงในการชะลอการฟื้นฟูภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจโรงแรม ส่งผลให้การจ้างแรงงานกลับเข้าสู่ระบบยืดออกไปนานมากขึ้น ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่าศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจากผลกระทบและความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมีการปรับตัว เปิดขายโครงการใหม่ลดลง

          ในปี 2564 นี้ คาดมีจำนวนหน่วย Supply ที่เปิดขายใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มจากฐานที่ต่ำในปี 2563 โดยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้พัฒนาหลักในการเพิ่ม Supply เปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาด โดยที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรจะมีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 4.1% และ อาคารชุด 25.1%

          ขณะที่ จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัย ขายได้ใหม่ทั่วประเทศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2563 โดยคาดว่าจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ของบ้านจัดสรรจะขยายตัว 2% และอาคารชุดจะขยายตัว 8.4%

          "ปี  2564  ตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมหน่วยเหลือขาย จะยังคงเพิ่มมากขึ้น 6.2% เนื่องจากมีโครงการเปิดขายใหม่มากกว่าจำนวนหน่วยที่ขายได้ โดยคาดว่าจำนวนหน่วยเหลือขายโครงการอาคารชุดจะอยู่ที่ 16.5% เนื่องจากยังประสบปัญหากำลังซื้อของชาวต่างชาติที่คาดว่ายังหดตัวจนถึงกลางปี" ดร.วิชัย กล่าว

          ด้าน นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 จะยังคงมีทิศทางไม่แตกต่างจากปลายปี 2563 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการต้องพึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศ  กลยุทธ์ด้านการลดราคาจะยังถูกนำมาใช้ต่อไป และผู้ประกอบการจะหันมาพัฒนาโครงการที่ลูกค้าสามารถซื้อได้เฉพาะในทำเลที่มีศักยภาพเท่านั้น โดยที่อยู่อาศัยที่ขับเคลื่อนตลาดยังคงเป็นแนวราบที่ตอบโจทย์กลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่แม้ว่ากำลังซื้อเหล่านี้จะมีอย่างจำกัดแต่ก็มีแรงกระตุ้นจากปัจจัยดอกเบี้ยและราคาที่อยู่ในระดับต่ำ

          โดยบ้านเดี่ยวราคา 3-5 ล้านบาท จะเป็นระดับราคาที่มีสัดส่วนสูงที่สุด  เห็นได้จากในครึ่งปีหลัง 2563 ทำเลที่มีบ้านเดี่ยวระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทเปิดขายอยู่ในตลาดคือทำเลปทุมธานี-ลำลูกกา และบางบัวทอง ส่วนทาวน์โฮม จะยังคงมีปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิด New Normal ความต้องการพื้นที่ใช้สอยในที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อการทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้นและการ work from home ทำให้ผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเริ่มทำงานหันไปซื้อทาวน์โฮมแทนคอนโดมิเนียม เนื่องจากมีพื้นที่ใช้สอยที่ มากกว่าในระดับราคาที่เปรียบเทียบกันได้ อีกทั้งระดับราคาของทาวน์โฮมสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวในทำเลเดียวกัน รวมถึงส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลที่ใกล้เมืองมากกว่าบ้านเดี่ยว ซึ่งทาวน์โฮมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทยังคงเป็นอุปทานหลักในตลาด โดยทำเลที่ยังพบการเปิดขายในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ได้แก่ ปทุมธานี-ลำลูกกา, กระทุ่มแบน-สามพราน

          สำหรับคอนโดมิเนียมนั้น คาดว่าในปี 2564 อุปทานจะลดลงต่อเนื่อง โดยโครงการระดับกลางหรือมีราคาระหว่าง 80,000-150,000 บาทต่อตารางเมตร ที่มีราคาขายต่อยูนิตไม่เกิน 4 ล้านบาท ยังเป็นที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ โดยใน ครึ่งปีหลัง 2563 โครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคานี้ พบบริเวณแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ทั้งสายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีชมพู
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ