แพ็กเกจเยียวยาโควิดรอบใหม่ ลดภาระ-เสริมสภาพคล่อง-อุ้มผู้ใช้แรงงาน
Loading

แพ็กเกจเยียวยาโควิดรอบใหม่ ลดภาระ-เสริมสภาพคล่อง-อุ้มผู้ใช้แรงงาน

วันที่ : 18 มกราคม 2564
รัฐบาลออก มาตรการเยียวยา โควิด-19 ระลอกใหม่ ภายใต้แนวคิด ลดภาระ ค่าใช้จ่าย เสริมสภาพคล่อง ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน
          หลังปีใหม่ 2564 การระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรงต่อเนื่อง ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนได้รับผลกระทบหนัก ทำให้รัฐบาลต้องทยอยออกมาตรการและโครงการช่วยเหลือเยียวยาฯ ภายใต้แนวคิด "ลดภาระ ค่าใช้จ่าย เสริมสภาพคล่อง ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน" มาตรการช่วยเหลือเยียวยาแพ็กเกจล่าสุดจัดกลุ่มมาตรการและโครงการได้เป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

          ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค

          1.ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค. 64 โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ประกอบด้วย สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน รวม 10.13 ล้านราย ซึ่งจะให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ทุกราย, สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน รวม 11.83 ล้านราย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าในส่วนของหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากบิลค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค. 63 เป็นฐาน ในการคำนวณส่วนลด เป็นต้น 2.ลดค่าน้ำประปา 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค. 64 เป็นต้น

          เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการและประชาชน

          1.พ.ร.ก. Soft Loan ธปท. วงเงิน 500,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 ม.ค. 64 มีวงเงินคงเหลือ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เม.ย. 64

          2.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารออมสิน ประกอบด้วย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (soft loan ท่องเที่ยว) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 ม.ค. 64 มีวงเงินคงเหลือ 7,600 ล้านบาท ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01/ปี  2 ปี สินเชื่อ ฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 ม.ค. 64 มีวงเงินคงเหลือ 4,200 ล้านบาท ธนาคารออมสินสนับสนุน สินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการ รายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและซัพพลายเชน วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99/ปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 เป็นต้น

          3. สินเชื่อ Extra Cash  โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 10,000 ล้านบาท วงเงินเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64

          4.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการช่วยเหลือ SMEs สู้ภัยโควิด-19 วงเงินค้ำประกันรวม 100,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง กลุ่มทั่วไป และผู้ประกอบการรายย่อย ประกอบด้วย

          การค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะที่ 9 รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 ม.ค. 64 การค้ำประกันสินเชื่อ บสย. รายย่อย ไทยสู้ภัยโควิด วงเงิน 5,000 ล้านบาท รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 ม.ค. 64 เป็นต้น

          5.มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกและธุรกิจที่ เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ วงเงินสินเชื่อ รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมวงเงิน 5,000 ล้านบาท ขยายเวลาพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 ณ วันที่ 3 ธันวาคม มีวงเงินคงเหลือ 2,142 ล้านบาท

          6.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุน สินเชื่อวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่ทำอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ และเกษตรกรรายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย คงที่ (flat rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10/เดือน ขยายเวลารับคำขอ สินเชื่อออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 ณ วันที่ 14 ธ.ค. 63 รวม 2 ธนาคารมีวงเงินคงเหลือ 14,365 ล้านบาท

          7.โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ธนาคารออมสิน วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ รายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35/เดือน ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 และให้โยกวงเงินที่เหลือจากโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ที่มีวงเงินเหลือ 2,987 ล้านบาท มาดำเนินการรวมกันในโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก บวกกับ วงเงินเดิมของโครงการที่เหลือ 7,245 บาท รวมเป็นวงเงินสำหรับปล่อยสินเชื่อ 10,412 ล้านบาท

          8.โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564  ประกอบด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ได้แก่

          -มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้า ธอส.ที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือน (ก.พ.-ก.ค. 64) ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน แอปพลิเคชั่น GHB ALL วันที่ 15-29 ม.ค. 64 เป็นต้น

          9.ปรับปรุงเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้ผู้ใช้สิทธิ์ที่จองที่พักตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. 64 เลื่อนการเดินทางออกไปได้ถึงเดือน เม.ย. 64 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมอบ ททท.พิจารณาขยายเวลาการดำเนินโครงการที่เหมาะสมและปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้มีความรัดกุม

          10.โครงการคนละครึ่ง ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ เริ่มเปิดให้ลงทะเบียน 20 ม.ค. ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่ 25 ม.ค.เป็นต้นไป

          11.มาตรการเราชนะ จ่ายเงินเยียวยารายละ 3,500 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ และเกษตรกร

          มาตรการสำหรับผู้ใช้แรงงาน

          1.ขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง เหลือ 3% ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 64

          2.การชดเชยกรณีว่างงานโดยกองทุนประกันสังคม กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ได้เงินชดเชย 70% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน กรณีว่างงานจากการลาออก ได้เงินชดเชย 45% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน

          3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงาน ครม.มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ