คลัง ปรับโครงสร้างภาษี เตรียมใช้หลังวิกฤติโควิด
Loading

คลัง ปรับโครงสร้างภาษี เตรียมใช้หลังวิกฤติโควิด

วันที่ : 8 กุมภาพันธ์ 2564
อาคม ห่วงรายได้รัฐเทียบ จีดีพียังต่ำอยู่ที่ 14% - ด้าน คลัง ปรับปรุงโครงสร้างภาษี เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีความมั่นคง
         
          "อาคม" ห่วงสถานการณ์รายได้รัฐ ชี้ภาพรวมยังต่ำเมื่อเทียบจีดีพี ปัจจุบันอยู่ที่ 14% ขณะที่อัตราเหมาะสมควรอยู่ที่ 18% ด้าน ก.คลังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างภาษี เพื่อความมั่นคงในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคต ระบุปีนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เหตุผลกระทบจากโควิด

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างภาษี เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีความมั่นคง แต่การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่นำมาใช้ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

          การจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง เพราะจะทำให้รัฐบาลทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวในระยะยาวยากขึ้น ทั้งนี้ ในอดีตการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่อจีดีพีอยู่ที่ 18% ปัจจุบันอยู่ที่ 14% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ดังนั้น การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มากพอที่จะทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวในอนาคต

          "ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจไทยในปีที่แล้วขยายตัวแบบติดลบ ทำให้การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ไม่สามารถทำได้ เพราะประชาชนและผู้ประกอบการยังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกอนาคต" นายอาคม กล่าว

          ดังนั้น ในปีนี้กระทรวงการคลังจะใช้เวลาในการศึกษาการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จึงค่อยนำมาปฏิบัติ การปรับโครงสร้างภาษี หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้นี้ ก็เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรองรับการใช้จ่ายในอนาคตได้ เพราะงบประมาณ 70% เป็น เรื่องรายจ่ายประจำ ตรงนี้ลดยาก มีทางเดียวคือการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการขยายฐานภาษี

          อย่างไรก็ตาม รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2557-2563 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้น จาก 2,074,660 ล้านบาท เป็น 2,391,570 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 2.1% ต่อปี ซึ่งมีเพียงปีงบประมาณ 2557 2560 และ 2563 ที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิลดลงจากปีก่อนหน้า

          โดยในปีงบประมาณ 2563 รายได้รัฐบาล ลดลง เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และการออกมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน

          ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 20% ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยอัตราจัดเก็บสูงสุดเคยอยู่สูงสุดที่ 37% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 35%

          ส่วนปัจจัยเร่งที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคตก็คือ การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังแรงงานลดน้อยลง หมายถึงฐานภาษีในอนาคตก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ในปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 16.8% ของจำนวนประชากร คาดว่าปี 2568 ประชากรสูงอายุของไทยจะขึ้นไปอยู่ที่ 20%

          นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยเร่งสำคัญก็คือ การที่ประเทศจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ต้องใช้งบประมาณลงทุนมหาศาล รวมถึงการใช้นโยบายการคลังเพื่อดูแลประชาชนและภาพรวมเศรษฐกิจ

          ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้การจัดเก็บภาษียากขึ้นและภาษีเงินได้มีแนวโน้มลดลง การค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซที่แพร่หลายมากขึ้น กระทบต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลที่ทำได้ยากขึ้น ขณะเดียวกัน ฐานภาษีที่แคบ ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาระบบอีเพย์เมนท์ให้การชำระภาษีงานขึ้นและบริหารจัดเก็บภาษีให้สามารถจัดเก็บได้อย่างทั่วถึง
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ