กนง.หั่นจีดีพีเหลือ 3% กังวล ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ ฟื้นช้า
Loading

กนง.หั่นจีดีพีเหลือ 3% กังวล ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ ฟื้นช้า

วันที่ : 25 มีนาคม 2564
ธปท.คงดอก0.50% พยุงเศรฐษกิจที่ยังอ่อนแอ
          จากผลกระทบ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 รอบใหม่ แม้จะไม่มีผลกระทบรุนแรง เท่า โควิด-19รอบแรก แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นประเด็นความเสี่ยงและซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้ว ให้เปราะบาง มากขึ้นไปอีก  โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่อาจไม่ได้กลับมาเร็วเหมือนที่คาดการณ์ไว้ แม้ทั่วโลกจะเริ่มมีการฉีด "วัคซีน"โควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่การ กลับมา และความมั่นใจในการท่องเที่ยว ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นตัว

          ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการเปิดผลประชุมกนง. ครั้งที่ 2ของปี 2564 เมื่อ 24 มี.ค. โดย "ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส" เลขานุการ กนง. ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ให้ "คงอัตรา ดอกเบี้ย"ไว้ที่ระดับเดิม 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังคงเผชิญความเสี่ยง ด้านต่ำ แม้เศรษฐกิจไทย โดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ เศรษฐกิจไทย ยังต้องการแรงสนับสนุนจากดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อไป และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space ที่มีอยู่จำกัดไว้ใช้ในจังหวะที่เหมาะสม

          ทั้งนี้ ในการประชุมกนง.ครั้งนี้ยังมีการปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพี  ลงจากเป็นขยายตัวลดลงเหลือ 3% จากประมาณการเดิมเมื่อธ.ค.ปี 2563 ที่คาดอยู่ที่ 3.2% รวมถึงปรับจีดีพีปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 4.8%

          น้ำหนักหลักๆ ที่กนง.มีการปรับจีดีพี ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า หลักใหญ่ มาจาก "จำนวนนักท่องเที่ยว" ที่ลดลง และมาช้ากว่าที่คาดไว้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยว จะเหลือ 3 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 5.5 ล้านคน ซึ่งมีน้ำหนักหรือผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่มากกว่าผลกระทบของ "โควิด-19 รอบ2" เสียอีก เพราะประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และมีผล ต่อจีดีพีสูงราว 12%

          ดังนั้น การที่เราพึ่งพา นักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ "เศรษฐกิจไทย"ฟื้นตัว ช้ากว่าประเทศอื่นๆ

          "หากดูการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากนี้จะค่อยๆสูงขึ้น และกลับเข้าสู่ ระดับใกล้เคียงกับ ก่อนเกิดโควิด-19 ได้ คือ กลางปี 2565 ดังนั้น แปลว่าหากนับตั้งแต่ปลายปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาราว 2ปีครึ่ง กว่าจะกลับมาฟื้นตัวซึ่งใกล้เคียงกับหลายประเทศในภูมิภาคที่พึ่งพาท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ก็มักเห็นการฟื้นตัวช้าเหมือนเราเช่นกัน"

          ขณะเดียวกัน แม้จะเห็นฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยบวก อย่าง "ส่งออก" ที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ตามการขยายตัวของประเทศคู่ค้า ทำให้ กนง.มีการปรับมูลค่าส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 5.7% รวมถึงแรงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่ ภาคท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวช้า และกระทบมากกว่าคาด ก็อาจไม่สามารถประคองให้เศรษฐกิจไทยโตได้ระดับคาดการณ์เดิมได้!

          อีกทั้ง ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม หรือความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า คือ ประสิทธิผล การกระจาย วัคซีน ว่าจะเป็นอย่างไร จะกลายพันธุ์ หรือไม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการกลับมาของ นักท่องเที่ยวต่างชาติ

          ท้ายที่สุดแม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่ลักษณะการฟื้นตัว ยังต่างกันมาก ดังนั้นเศรษฐกิจไทย ยังจำเป็น และต้องการแรงหนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทย ยังไม่เข้มแข็ง แม้ฟื้นตัว แต่ก็ยัง "เปราะบาง"เพราะยังมีความเสี่ยง ดังนั้นจำเป็นต้องมีแรงกระตุ้นจากหลายเครื่องมือเข้ามาช่วย

          นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ ที่คณะกรรมการ กนง.มีการคุยกันในที่ประชุม ถึงการเข้าไป ช่วยเหลือภาคประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ขณะที่ ด้านการเงิน แม้สภาพคล่องโดยรวมจะอยู่ระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ตามฐานะ การเงินที่เปราะบาง  โดยเฉพาะธุรกิจที่ ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะ ถัดไปให้เข้มแข็ง ต้องไปดูเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้มีประสิทธิภาพ นโยบายภาครัฐต่างๆคงต้องปรับเปลี่ยนและให้เกิดความเพียงพอ เพื่อหนุนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน

          สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 2564 นี้ ยอมรับว่า มีแนวโน้ม "ลดลง" หากเทียบกับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ มีการเปิดเผยจีดีพีในไตรมาส 4 ติดลบอยู่ที่ 4.2% ซึ่งหลักๆ จากผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ แต่การบริหารจัดการ โควิด-19 รอบนี้ ที่ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับการระบาดรอบแรก และมาตรการรองรับ และ เยียวยาที่ทำได้เร็ว มีส่วนช่วยพยุงทำให้ "ผลกระทบ" ไม่ได้รุนแรงเท่าโควิด-19 รอบแรก

          "ทิตินันทิ์" ยังกล่าวอีกว่า ในการประชุมกนง.รอบนี้ มีข้อสังเกตอีกด้าน ที่น่าสนใจ คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ปี 2564 ที่คาดเกินดุลน้อยลง เหลือ 1.2 พันล้านดอลลาร์ จากคาดการณ์เดิมที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์ จากราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ที่ส่งผลให้ แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท "ลดลง"ด้วย ดังนั้นความกังวลของธปท.ที่มีต่อค่าเงินบาทแข็งค่าก็ลดลง จาก "ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลน้อยลง

          แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องพวกนี้ ประมาทไม่ได้ เพราะอาจจะมีเรื่องเงินทุนที่ผันผวน ซึ่งต้องระวังอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับ การเร่ง ผลักดัน หรือสร้างระบบนิเวศของอัตรา แลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่าง ต่อเนื่อง เพื่อเป็นกันชน และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทในระยะยาวได้

          "ที่ผ่านมา หากดูอัตราแลกเปลี่ยน เวลาสหรัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินดอลลาร์ก็มักกลับไปแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาท รวมถึงเงินสกุลในภูมิภาค กลับมาอ่อนค่า ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆบ้าง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง จึงทำให้ แรงกดดันของเงินบาทที่แข็งค่าน้อยลง แต่ยังไงต้องบริหารจัดการค่าเงิน และติดตามค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง"
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ