ไฮสปีดเทรน เพิ่มทุน4พันล้าน ไตรมาส4ยกเครื่องแอร์พอร์ตลิงก์
Loading

ไฮสปีดเทรน เพิ่มทุน4พันล้าน ไตรมาส4ยกเครื่องแอร์พอร์ตลิงก์

วันที่ : 1 เมษายน 2564
กลุ่ม ซี.พี.เพิ่มทุนอีก 4 พันล้าน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
          กลุ่ม ซี.พี.เพิ่มทุนอีก 4,000 ล้าน เดินหน้า "ไฮสปีด" เชื่อม 3 สนามบิน ลุยรีแบรนดิ้งแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดหวูดโฉมใหม่ 25 ต.ค.นี้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบ พื้นที่ก่อสร้างเฟสแรก "สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" ปรับแผน "พญาไท-บางซื่อ" เร็วขึ้น 1 ปี คมนาคมเร่งเคลียร์ปมทับซ้อนรถไฟไทย-จีน EEC คิกออฟเมืองการบินอู่ตะเภาปลายปีนี้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับจากวันที่ 24 ต.ค. 2562 บริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด นิติบุคคลเฉพาะกิจที่กลุ่ม ซี.พี.จัดตั้งขึ้นเซ็นสัญญาร่วมทุนสัมปทาน 50 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. และ แอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท

          ตามสัดส่วนการถือหุ้น ได้แก่ บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 70% บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15% และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 5% ซึ่งตามสัญญา กลุ่ม ซี.พี.จะต้อง มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ก่อนเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยกับรถไฟ

          กลุ่ม ซี.พี.เพิ่มทุนอีก 4 พันล้าน

          ล่าสุด นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จะเพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทอีก 4,000 ล้านบาท รวมกับทุนเดิม 4,000 ล้านบาท เป็นวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งรัฐจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ภายในเดือน ต.ค. 2564 ตามกรอบเวลา 2 ปีที่กำหนดไว้ในสัญญา

          "เราต้องทำตามสัญญา ทันทีที่รัฐส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญา เราพร้อมดำเนินการทันที จริง ๆ ตอนนี้เตรียมการลงทุนไปมากกว่า 2,000 ล้านบาท ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง การทำงาน ทุกอย่างต้องเซฟ ซึ่งการเพิ่มทุนเป็นคนละส่วนกับแหล่งเงินทุนของโครงการ เราต้องมาจัดการอีกที ถ้าภาครัฐสนับสนุนแหล่งทุนก็เป็นเรื่องดี เพราะยังไงเราก็ต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอยู่แล้ว"

          รีแบรนด์ "แอร์พอร์ต ลิงก์"

          นายศุภชัยกล่าวอีกว่า สำหรับการรับโอนสิทธิเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังเป็นไปตามไทม์ไลน์คือจะรับโอนภายในวันที่ 24 ต.ค. และเปิดเดินรถวันแรกวันที่ 25 ต.ค. 2564 โดยบริษัทจะจ่ายค่าใช้สิทธิ์เดินรถให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 10,671 ล้านบาท เป็นการจ่ายงวดเดียว ส่วนการดำเนินการโครงการอยู่ระหว่างวางแผนร่วมกันและเตรียมการลงทุนในทันทีที่เข้าบริหารโครงการ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องมีความปลอดภัยและการโอเปอเรตการเดินรถจะต้องไม่สะดุด

          "อาจรีแบรนดิ้งแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ใหม่ทั้งหมด อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบและแบรนด์ร่วมกันอยู่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงการไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะกว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะก่อสร้างแล้วเสร็จก็อีก 5 ปี ยังมีเวลาเปลี่ยนผ่าน การจะเปลี่ยนแปลงอะไรในทันที ประชาชนอาจจะสับสนได้"

          รัฐอัดค่าเวนคืน 2.1 พันล้าน

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 30 มี.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อีก 2,170 ล้านบาท ทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,570 ล้านบาท เป็น 5,740 ล้านบาท โดยจะใช้งบฯกลางปี 2564 จำนวน 607 ล้านบาท จ่ายเวนคืนเร่งด่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้ทันส่งมอบพื้นที่ให้ ซี.พี.ในเดือน ก.ย.นี้ และช่วงพญาไท-ดอนเมือง ในเดือน ต.ค. 2566

          "ทราบว่าทาง ซี.พี.พร้อมมอบพื้นที่ตามสัญญาและมีการนำคนของแอร์พอร์ตลิงก์ไปบางส่วนบ้างแล้ว ส่วนแหลมฉบังเฟส 3 ยังไม่มีการเสนอ ครม."

          แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า พร้อมส่งมอบพื้นที่เฟสแรก ช่วงสุวรรณภูมิอู่ตะเภา ให้ ซี.พี. วันที่ 24 ต.ค.นี้ ได้เคลียร์ผู้บุกรุก 302 หลัง ออกจากพื้นที่และล้อมรั้วเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จะเร่งรัดส่งมอบในเดือน ธ.ค. 2565 เร็วขึ้นจากเดิมในเดือน ต.ค. 2566

          เคลียร์จุดทับซ้อนไม่ลง

          ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ประชุมคณะทำงานมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีมติเร่งการส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ให้ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ จากเดิมจะส่งมอบในเดือน ต.ค. 2565 โดยให้กลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้ก่อสร้างช่วงนี้เพราะมีความพร้อมมากกว่ารถไฟไทย-จีน

          "ยังมีปัญหาต้องแก้ไข เรื่องโครงสร้างเดิมที่ออกแบบไว้โดยจีน มีขนาดใหญ่มาก เพราะรองรับความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กม./ชม. และไปกระทบกับระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายเฉพาะงานโครงสร้างส่วนนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ยินดีจะก่อสร้างให้ แต่ต้องลดขนาดโครงสร้าง เพราะใช้รถแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งผ่านบริเวณนี้ ซึ่งใช้ความเร็วสูงสุดแค่ 160 กม./ชม. จะประหยัดค่าก่อสร้างลงไปอีก แต่จีนไม่ยอม ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้"

          สิ้นปีคิกออฟอู่ตะเภา

          นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปลายปี 2564 จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการเมืองการบิน อู่ตะเภา เนื้อที่ 6,500 ไร่ ให้กับ บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ประกอบกับ บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ. ซิโน-ไทยฯ ผู้รับสัมปทานโครงการ

          การพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 4 ระยะ ใช้เงินก่อสร้าง 2 แสนล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 1.3 แสนล้านบาท ค่ารีโนเวต-ซ่อมบำรุงตามวงรอบอีก 7 หมื่นล้านบาท โดยระยะที่ 1 ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้าน ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 157,000 ตร.ม. และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 15.9 ล้านคน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 2567

          "ต.ค.นี้กองทัพเรือจะประมูลรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1.7 หมื่น ล้านบาท หลังได้รับอนุมัติรายงานผล กระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA"

          นายโชคชัยกล่าวอีกว่า ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา วงเงิน 10,000 ล้านบาท ของ บมจ.การบินไทย ยังคงกันพื้นที่ไว้ให้ รอการบินไทยสรุปขนาดของโครงการเพราะมีการศึกษาใหม่เพื่อลดต้นทุน ซึ่งโครงการนี้ระบุไว้ในแผนฟี้นฟูกิจการแล้ว ปัจจุบันกองทัพเรือกำลัง ถมที่เพิ่มเพื่อพัฒนาเป็น MRO ในอนาคต ทั้งของการบินไทยและสายการบิน อื่น ๆ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ