คลังปั๊มศก.ครึ่งปีหลัง คนละครึ่งรอบใหม่-เปิดช่องกู้รับวิกฤต
Loading

คลังปั๊มศก.ครึ่งปีหลัง คนละครึ่งรอบใหม่-เปิดช่องกู้รับวิกฤต

วันที่ : 5 เมษายน 2564
คลังจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ หวังดัน จีดีพีโต 4%
          ปลัดคลังเปิดไทม์ไลน์กระตุ้นเศรษฐกิจดันจีดีพีโต 4% กระตุ้นบริโภค Q2 ต่อเนื่องถึง Q3 พ่วงช่วย ขรก.ชั้นผู้น้อย กวาดทุกเก๊ะตุนกระสุนรับความเสี่ยง ยันจัดเก็บรายได้ต่ำเป้ากระเป๋าไม่ฉีก พร้อมกู้เงินเกินกรอบวินัยการคลังหากสถานการณ์ฉุกเฉิน หนี้สาธารณะเกิน 60% แค่ 1-2 ปีไม่มีปัญหา เดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีหนุนงบฯกลับสู่สมดุล ลุ้นท่องเที่ยว-ลงทุนฟื้น

          นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลและกระทรวงการคลังจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภค และการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อรักษาโมเมนตัม การฟี้นตัวของเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายผลักดันอัตราขยายตัวด้านเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ให้โตได้ 4% ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าโต 3% ส่วน กระทรวงการคลังล่าสุด คาดการณ์ที่ 2.8% แต่เป็นการประเมินช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

          "ที่เรามองเป็นช่วงที่มีระบาดระลอกใหม่ แต่เราบริหารจัดการได้ดีในรอบนี้ เป้าที่รัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจโตได้ 4% จึงต้องกระตุ้นบางเรื่อง และคิดว่าหลาย ๆ อย่างเป็นไปได้ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฉีดวัคซีน การเปิดประเทศ ที่สามารถทำได้แล้ว และถ้าเร็ว กว่าคาดไว้เดิม โอกาสที่เศรษฐกิจจะโตถึง 4% เป็นไปได้"

          แต่ต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กก็มีมุมมองว่า ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 จาก 17 ประเทศ ที่มีการฟี้นตัว และมีมาตรการป้องกันโควิดได้ดี

          ไทยใช้เงินดูแลเศรษฐกิจไม่มาก

          นายกฤษฎากล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศทั่วโลกถูกกระทบด้วย หลายประเทศหนักกว่าไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งประเทศคู่ค้า บางประเทศปิดประเทศล็อกดาวน์หลายรอบ สำหรับไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก แต่การกระตุ้นการส่งออกทำได้ยาก เพราะพึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไม่กระทบมาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็รอจังหวะ ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจมีเครื่องยนต์เดียวที่เดินได้ คือ ภาครัฐ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การลงทุน และการบริโภค

          "การลงทุนภาครัฐ เราพยายามเร่งงบประมาณ ทำนโยบายการคลังขาดดุล มาตลอด เพื่อสนับสนุนเรื่องของการลงทุน ขณะที่การบริโภคก็ออกมาหลาย ๆ โครงการ อาทิ เราไม่ทิ้งกัน, คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ และมาตรา 33 เรารักกัน ซึ่งการบริโภคมีสัดส่วนที่ใหญ่ในจีดีพี จึงพยายามกระตุ้นส่วนนี้  ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เราใช้นโยบายการคลังในเรื่องของงบประมาณเข้าไปใส่แล้ว ทั้งการลงทุน และการบริโภค"

          อย่างไรก็ตาม เทียบกับประเทศอื่นถือว่าไทยยังใช้เงินไม่มาก แต่สามารถดึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้ฟี้นตัวได้ดี ในส่วนของกฎหมายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติวงเงินแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท ถือเป็นเงินที่ใส่เข้าไปมากกว่างบประมาณปกติ แต่วงเงิน 1 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับ ขนาดของจีดีพีที่มี 16 ล้านล้านบาท ยังไม่ถึง 10% ขณะที่หลายประเทศอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ 10-20% ของจีดีพี

          "ปัจจุบันวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ กว่า 2 แสนล้านบาท จริง ๆ แล้วสัญญาณ เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 และ 4 ปี ที่แล้ว แต่เจอการระบาดรอบใหม่ ถึงปัจจุบัน สัญญาณบวกเริ่มเข้ามา การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมา เดือน ก.พ.ขยายตัว 18.6% การผลิตรถยนต์ เดิมหดตัวสูงก็ลดเหลือ -2.3% การจำหน่ายปูนซีเมนต์ก็ปรับเป็นบวก แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีกิจกรรม การลงทุน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนเริ่มโตขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน ทั้งรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ เริ่มขยายตัว เห็นได้ชัดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา แม้แต่ส่งออก หากไม่รวมทองคำ ก็เริ่มเป็นบวก ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งออกขยายตัว 4%"

          กระตุ้นเศรษฐกิจรักษาโมเมนตัม

          นายกฤษฎากล่าวว่า ไตรมาส 2 นี้ยังมีเม็ดเงินจากโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐลงสู่เศรษฐกิจอยู่ ได้แก่ โครงการเราชนะ เม็ดเงินรวม 2.01 แสนล้านบาท และมาตรา 33 เรารักกัน 3 หมื่นล้านบาท ส่วนคนละครึ่งจบไปแล้ว มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ถึง 1.03 แสนล้านบาท ขณะนี้กำลังพิจารณา ว่าไตรมาส 3 ต้องมีอะไรไปช่วย

          "ไตรมาส 2 ยังมีโครงการที่ลงไปช่วย ประกอบกับมีเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะออกไปจับจ่ายใช้สอย ไตรมาส 3 จะมีมาตรการออกมากระตุ้นให้ต่อเนื่อง ส่วน ไตรมาส 4 คิดว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้น เราก็จะเข้าไปกระตุ้นการลงทุน"

          เล็งช่วยค่าครองชีพ ขรก.ใน Q3

          ส่วนการช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการ ที่ก่อนหน้านี้พูดถึงโครงการเราผูกพัน ขอพิจารณาก่อน อาจช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาทต้น ๆ เทียบเคียงกับเงื่อนไขการช่วยเหลือมาตรา 33 เรารักกัน ซึ่งมีข้อมูลจากกรมบัญชีกลางแล้วว่า มีข้าราชการที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือไม่กี่แสนราย จะไปรวมกับมาตรการที่จะทำออกมาช่วงไตรมาส 3 แต่ต้องหารือระดับนโยบายอีกครั้ง

          "ในส่วนของข้าราชการไม่ได้เรียกว่าเป็นการเยียวยา แต่เป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพ แม้จะมองกันว่าข้าราชการได้รับผลกระทบน้อย ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง แต่ข้าราชการไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนมา 10 ปีแล้ว อัตราการขึ้นเงินเดือนก็ไม่เกิน 3% ขณะที่เอกชนปรับขึ้น 6-7%"

          ยังไม่สรุปใช้เป๋าตังลดหย่อนภาษี

          สำหรับข้อเสนอสมาคมธนาคารไทย เรื่องการต่อยอดแอป "เป๋าตัง" ให้มีมาตรการจูงใจด้านภาษี นายกฤษฎากล่าวว่า สามารถทำได้ โดยการต่อยอดแอป "เป๋าตัง" เป็นออปชั่นหนึ่งในหลาย ๆ มาตรการ ที่คิดไว้ ส่วนข้อเสนอของสมาคม ธนาคารไทย เป็นเรื่องที่เสนอได้ ขณะที่กระทรวงการคลังก็มีสิ่งที่คิดไว้ แต่จะใช้มาตรการแบบไหนต้องรอดูนโยบายอีกที

          กระตุ้นลงทุนปลายปี

          นอกจากกระตุ้นการบริโภคแล้ว ช่วงไตรมาส 4 ที่ต้องทำเรื่องการลงทุน สนับสนุนให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะการลงทุนจะเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่า ในอดีตการลงทุนเอกชนเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด และขณะนี้ก็เห็นสัญญาณเริ่มกลับมาแล้ว แต่ตอนนี้ต้องเร่งการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่เกือบ 3 แสนล้านบาท จากที่ติดขัดไปบ้างในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

          ยันรัฐมีกระสุน-ฐานะคลังยังปิ้ก

          ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องฐานะการคลังกันนั้น นายกฤษฎากล่าวว่า ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงในการระดมทุนมาก ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ จีดีพีอยู่ที่ 52% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ สูงกว่า 80-90% เงินคงคลังอยู่ในระดับกว่า 5 แสนล้านบาท ทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงกว่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์

          "ดังนั้น เรื่องกระสุนไม่ต้องห่วง ยังมี ช่องทางอยู่ หากพูดถึงความสามารถในการรองรับความผันผวน ยังรองรับได้สบายมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินคงคลัง ทุนสำรอง ระหว่างประเทศ และขณะนี้ค่าเงินก็อ่อนลงมา ก็จะช่วยในเรื่องการส่งออก"

          ขณะที่เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ที่วงเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติเร็วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาไว้แล้วว่า ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2564 จะมีงบประมาณปี 2565 ออกมาแล้ว ซึ่งเป็นงบฯขาดดุล 7 แสนล้านบาท

          พร้อมกู้เกินเพดานหากจำเป็น

          อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าหากมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยยังมีช่องทางรับมืออีกมาก เพราะระดับหนี้สาธารณะต่ำมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก ทั้งนี้ ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง ตนพร้อมดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ หากมีความจำเป็น และมีเหตุผลเพียงพอ แม้ในระยะสั้น 1-2 ปี ระดับหนี้สาธารณะอาจจะเกินจากกรอบวินัยการเงินการคลังบ้าง แต่ต้องรอดูสถานการณ์ว่ามีเหตุการณ์เข้ามากระทบมากน้อยเพียงใด แต่ขณะนี้ถือว่ายังไม่จำเป็นต้องขยายกรอบเพราะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะโตได้ 2.8-3%

          "แม้ว่าวินัยการคลัง หนี้สาธารณะ ควรจะอยู่ไม่เกิน 60% แต่ถ้าจะเกินนิดหน่อยและกลับลงมาอยู่ในระดับ 60% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คิดว่าไม่ได้เป็นภาระกับเรามากนัก ส่วนเรื่องเก็บภาษี ปกติเก็บได้ตามเป้า แต่ช่วงนี้อาจไม่ได้ตามเป้าเพราะเจอโควิด ส่วนระยะยาวต้องพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี หากทำได้ เรื่องการทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลก็เป็นไปได้ และหนี้สาธารณะจะลดลงแน่นอน"

          บริหารจัดการคลังได้-ไม่ขึ้นภาษี

          นายกฤษฎากล่าวด้วยว่า แม้ช่วงนี้การเก็บรายได้ออกมาต่ำกว่าเป้า แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะเงินคง คลังยังมีเพียงพอ และหากปีหน้ารายรับเริ่มดีขึ้น รวมถึงมีการปรับโครงสร้างภาษีบางประเภทจะทำให้ฐานะการคลังดีขึ้น

          นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายทุกปีส่วนใหญ่ไม่เคยเบิกได้เต็มจำนวน ภาพใหญ่ เบิกจ่ายได้สูงสุด 92-93% จะเหลือราว 7% เทียบกับ 3 ล้านล้านบาท ก็ราว 2 แสนล้านบาท ระหว่างนี้จึงต้องบริหารจัดการ โดยที่ไม่ต้องขึ้นอัตราภาษี เพราะภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่ใช่จังหวะจะปรับขึ้นภาษี แต่ต้องหารายได้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และดึงกลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง การปรับโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องระยะยาวเพื่อช่วยให้ฐานะการคลังสมดุลได้ในอนาคต เพราะปัจจุบันรายได้ภาษีของไทยเทียบกับจีดีพีต่ำลงเหลือ 14% จากเดิม 16-17% ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีอย่างน้อยจะทำให้สัดส่วนกลับมาเท่าเดิม หรือดีขึ้นกว่าเดิม

          ปรับโครงสร้างภาษีรับ 3 เรื่อง

          ทั้งนี้ ตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง การปรับโครงสร้าง ภาษีให้รองรับ 3 เรื่อง ซึ่งเป็นทิศทางของทั่วโลก ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาษีบาป เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งหมดนี้กำลังเร่งพิจารณา

          ไทยเที่ยวไทย-ผ่อนกฎรับต่างชาติ

          ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าหลังผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น และเปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจจะฟี้นได้ วันนี้รัฐบาลพยายามดึงดูด นักท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนเพิ่มความเชื่อมั่น ผ่อนคลายเรื่องการกักตัวซึ่งจะช่วยได้มาก เพราะไทยเป็นประเทศที่คนอยากเข้ามาอยู่แล้ว และเมื่อมาแล้วก็ต้องดูแลอย่างดี ให้ นักท่องเที่ยวประทับใจ มาตรการจูงใจเพิ่มเติมนอกจากนี้เพื่อดึงนักท่องเที่ยว ต่างประเทศจึงไม่มีความจำเป็น ส่วนการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยก็คิดกันอยู่ หลังสิ้นสุดโครงการเราเที่ยวด้วยกันแล้ว อาจมีมาตรการอื่น ๆ เสริมอีก