ราคาเหล็กพุ่งทะยานไม่หยุด ผู้รับเหมาดิ้นขอปรับ ค่าK
Loading

ราคาเหล็กพุ่งทะยานไม่หยุด ผู้รับเหมาดิ้นขอปรับ ค่าK

วันที่ : 19 พฤษภาคม 2564
7 สมาคมเหล็กกระทุ้งรัฐ ยกเลิกบวกลบค่า K 4%
          ราคาเหล็กทะยานไม่หยุด หลังตลาดโลกปรับขึ้นราคาวัตถุดิบ Billet-เศษเหล็ก ทะลุ 800 เหรียญ ส่งผลเหล็กเส้นในประเทศ ขยับขึ้นเป็น 26 บาท/กก. เหล็กแผ่นจ่อ ทะลุ30 บาท/กก. ด้านสมาคมอุตฯก่อสร้าง เดือดร้อนหนักทำหนังสือถึง ประยุทธ์ ขอยกเลิกส่วนต่างค่า K 4% สำนัก งบประมาณเตรียมเรียกกรมทางหลวง หารือปรับสูตรคำนวณค่า K หวังอุ้มผู้รับเหมา ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐฝ่าวิกฤต

          ราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหล็กแท่งทรงยาว (billet) อยู่ที่ประมาณ 800 เหรียญ/ตัน, เหล็กแท่งทรงแบน (slab) 900 เหรียญ/ตัน, เศษเหล็ก 485 เหรียญ/ตัน ในขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน (HRC) ได้ทะลุไปถึง 1,050 เหรียญ/ตัน และมีแนวโน้มว่าราคาจะขยับขึ้นไปอีกเป็นรายสัปดาห์จากโรงงานเหล็กในจีน ส่งผลให้ราคาจำหน่ายเหล็กภายในประเทศปรับขึ้นตามอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาเหล็กเส้นหน้าโรงงานสัปดาห์นี้อยู่ที่ประมาณ 26 บาท/กก. ส่วนเหล็กแผ่นหน้าโรงงานอยู่ที่ประมาณ 30 บาท/กก. ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้เหล็กในโครงการต่าง ๆ จนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปดูแลราคาเหล็กในประเทศ

          7 สมาคมเหล็กกระทุ้งรัฐ

          ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานเข้ามาว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา 7 สมาคมผู้ผลิตเหล็กได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าเหล็ก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 5 ข้อด้วยกันคือ 1) ขอให้มีการสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานเหล็ก 2) กลุ่มผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิตเหล็ก 3) ขอการสนับสนุนจากภาครัฐในการพิจารณาปรับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ หรือค่า K 4) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ และการผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0

          นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการระยะสั้นที่ 7 สมาคมขอไปก็คือ การพิจารณาปรับค่า K จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนเหล็กได้ สอดคล้องกับนายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ก็เชื่อว่า การปรับค่า K จะเป็นมาตรการเร่งด่วนที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในการบรรเทาผลกระทบของผู้รับเหมาก่อสร้างงานโครงการภาครัฐได้สินค้าวัสดุก่อสร้างที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่จะเห็นได้ว่า มีการปรับราคาขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก แต่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศก็มีส่วนช่วยชะลอการขึ้นราคาขายในประเทศ เนื่องจากราคาขายเป็นไปตามต้นทุนการผลิตที่สามารถจัดหามาได้ ไม่ได้ปรับราคาซื้อขายตามราคาตลาดโลกทันที นายวิกรมกล่าว

          ยกเลิกบวกลบค่า K 4%

          น.ส.ลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ราคาเหล็กที่สูงขึ้นมากในขณะนี้ มาจากสภาวะตลาดโลกที่หลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะจีน โหมการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานจนต้องกว้านซื้อเหล็กจากประเทศต่างๆ ทำให้เหล็กมีราคาแพง ทางสมาคมจึงมีข้อเรียกร้องไปถึงรัฐบาล 5 ข้อ ในจำนวนนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน 4 ข้อ ได้แก่

          1) ขอให้ยกเลิกส่วนต่างราคาค่า K บวกลบ 4% จากสูตรคำนวณค่าปรับราคาเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี (มกราคม 2564-ธันวาคม 2565)

          2) ขอให้พิจารณาใช้ฐานดัชนีราคาในเดือนที่คิดราคากลางในการคำนวณค่า K แทนการใช้ดัชนีราคาในเดือนที่จะเปิดซองประกวดราคา เพื่อให้สะท้อนฐานดัชนีราคาที่จะใช้คำนวณ 

          3) เร่งรัดการเบิกจ่ายค่า K ภายในเวลา 60 วันนับจากวันที่ยื่นขอเบิกค่าชดเชย

          4) การคิดราคากลาง ขอให้สะท้อนราคาเหล็กเสริมคอนกรีตที่แท้จริงในตลาด โดยใช้ราคาไม่เกิน 30 วันก่อนการประกวดราคา และ 5) ในระยะยาวขอให้มีการปรับสูตรคำนวณค่า K ใหม่ให้สะท้อนถึงต้นทุนที่เป็นธรรมและใกล้เคียงความเป็นจริงยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้มาตรการยกเลิกส่วนต่างค่า K เคยมีมติ ครม.วันที่ 17 มิ.ย. 2551 ให้ความเห็นชอบให้มีการชดเชยเพิ่มเติมส่วนต่างค่างานก่อสร้างเฉพาะราคาวัสดุเหล็กและน้ำมันดีเซลในอัตรา 4% ของปริมาณงานตามสูตรที่กำหนดไว้ในแต่ละประเภทงานก่อสร้าง ที่ใช้กับสัญญาแบบปรับราคาได้โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2550 ถึง 30 ก.ย. 2551

          สำนักงบฯเรียกหารือปรับค่า K

          แหล่งข่าวในกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาราคาเหล็กปรับสูงขึ้นแล้ว ในเร็ว ๆ นี้ สำนักงบประมาณ ในฐานะหน่วยงานที่คำนวณค่า K ได้เรียกกรมทางหลวง-กรมทางหลวงชนบท (ทช.)-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้าไปหารือถึงการปรับสูตรคำนวณค่า K ใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจะมีการหารือกันภายในเดือนพฤษภาคมนี้

          เฉพาะงานในส่วนของกรมทางหลวงมีการใช้เหล็กในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2563 ใช้ถึง 400,000 ตัน ขณะที่ปีปกติเฉลี่ยอยู่ประมาณ 200,000-300,000 ตัน กับงานประเภทสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานข้ามแยก และทางยกระดับต่าง ๆ อาทิ มอเตอร์เวย์ ส่วนงานบนพื้นราบ อาทิ ถนนลาดยาง ถนนเสริมคอนกรีต มีการใช้เหล็กไม่มากนัก

          ด้านแหล่งข่าวจากกรมขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากงานระบบรางโดยเฉพาะรถไฟฟ้า จะใช้เหล็กรูปพรรณในการก่อสร้างประมาณ 5% ในงานโครงหลังคาสถานีรถไฟฟ้าและสามารถใช้เหล็กภายในประเทศได้

          จีนผู้กำหนดราคาเหล็ก

          ด้านแหล่งข่าวในวงการค้าเหล็กกล่าวถึงราคาเหล็กในระยะใกล้นี้ว่า ยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับลดลง โดยจะสังเกตจากราคาวัตถุดิบเหล็กแท่งทรงยาว billet ที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตเหล็กแผ่น หรือราคาเศษเหล็ก (scrap) ที่ใช้ผลิตเหล็กเส้น ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่มีกำลังผลิตเหล็กเกินครึ่งของโลกกำลังฟี้นตัวจากโควิด-19 เกิดโครงการก่อสร้างของภาครัฐเพิ่มขึ้นชดเชยจากช่วงที่ต้องล็อกดาวน์เศรษฐกิจไป ทำให้เกิด demand เพิ่มขึ้นจน supply ของโรงผลิตเหล็กตามไม่ทัน ประกอบกับจีนได้ยกเลิกมาตรการสนับสนุนการส่งออกเหล็กหรือ export tax rebate ลงด้วย

          เนื่องจากไทยไม่มีโรงถลุงเหล็ก ดังนั้นโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น-รีดร้อน หรือโรงงานเหล็กเส้น จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ ได้แก่ scrap นำมาหลอมแล้วไปรีดเป็นเหล็กเส้น หรือสั่ง billet จากต่างประเทศเข้ามาผลิตเป็นเหล็กแผ่น ทำให้มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 70-80% ค่าพลังงานอีก 10-15% และค่าแรงการบริหารจัดการอีก 10% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต้นทุน scrap-billet มากที่สุด ดังนั้นเมื่อราคาของวัตถุดิบ 2 ประเภทในตลาดโลกคือ จีน ขึ้น ราคาเหล็กในประเทศก็จะต้องขึ้นตามไปด้วย โดยทุกวันนี้โรงผลิตเหล็กในประเทศจะผลิตก็ต่อเมื่อผู้ซื้อเปิดออร์เดอร์เข้ามาก่อนเพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อวัตถุดิบนั่นเอง