ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ส่งสัญญาณเตือนบ้าน เดี่ยว 5-10 ล้าน เชียงใหม่เสี่ยงสต็อกบวม
Loading

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ส่งสัญญาณเตือนบ้าน เดี่ยว 5-10 ล้าน เชียงใหม่เสี่ยงสต็อกบวม

วันที่ : 25 พฤษภาคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ชี้ อสังหาฯเมืองเหนือซึมยาว เชียงใหม่ยอดขายวูบ 37% เหลืออีกกว่า 7,000 หน่วย
         ตลาดที่อยู่อาศัยภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยใน ปี 2563 พบว่า มีการขอใบอนุญาตจัดสรร- จำนวนโครงการ 4.3% ของประเทศ จำนวนหน่วย 4.4% และมีอ้ตราการขยายตัวเฉลี่ย 3 ปี 10.8%

          วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุตลาดที่อยู่อาศัยภาคเหนือ (เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก และตาก) ครึ่งหลัง ปี 2563 มี 407 โครงการ  18,570 หน่วย มูลค่ารวม 68,112 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 354 โครงการ 15,644 หน่วย มูลค่า 59,432 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 53 โครงการ 2,926 หน่วย มูลค่า 8,679 ล้านบาท โดยมีหน่วยเหลือขาย 16,499 หน่วย และขายได้ใหม่ 2,071 หน่วย

          เฉพาะโครงการในเชียงใหม่ หัวเมืองท่องเที่ยว ซัพพลาย ลดลง 4.4% จากช่วงเดียวกันปี 2562 มีจำนวน 10,955 หน่วย เป็นโครงการบ้านจัดสรร 8,560 หน่วย หรือ 78.1%  โครงการอาคารชุด 2,395 หน่วย 21.9 % และเปิดขายใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 เพียง 1,239 หน่วย ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 20.3% ขายได้ใหม่ 1,454 หน่วย ลดลง 37.2% มีหน่วยเหลือขายสะสม 9,501 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.8%

          เมื่อจำแนกตามราคาพบว่า หน่วยเหลือขาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท 3,383 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 35.6%  ขณะที่ หน่วยขายได้ใหม่มากที่สุดก็ยังคงอยู่ใน ช่วงราคา 2.01-3 ล้านบาท 517 หน่วย สัดส่วน 35.55% สำหรับหน่วยเหลือขายในครึ่งหลัง ปี 2563 ในเชียงใหม่ มีจำนวน 7,517 หน่วย จากจำนวนหน่วยเหลือขาย 9,501 หน่วย โดย 79.1 % เป็นโครงการบ้านจัดสรร

          ตลาดภาคเหนือยังคงเป็นแนวราบ เป็นหลักโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว ส่วนคอนโดยังมีส่วนเหลือขายอยู่บ้างแต่ไม่มีซัพพลายใหม่เข้าไปเติม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะจีนหายไป จึงหันไปทำ แนวราบเพื่อรองรับเรียลดีมานด์ทดแทนเพิ่มขึ้น แนวโน้มตลาดน่าจะกลับมาดีอีกครั้ง ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แต่ต้องระมัดระวัง การเพิ่มซัพพลายแนวราบราคา 5-7 ล้านบาท ขึ้นไปอัตราการดูดซับต่ำเมื่อเทียบกับราคา 2-3 ล้านบาท สรนันท์ เศรษฐี นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวว่า 5 เทรนด์ที่เข้ามาในตลาดอสังหาฯ หลังโควิด 19 เริ่มจาก 1.ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น 2.การลงทุน  3.การปรับฟังก์ชั่นรับนิวนอร์มอล 4. กรีนลิฟวิ่ง และ 5.เวลบีอิ้ง เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น นิยมเช่าแทนซื้อ เพราะพร้อมที่จะเปลี่ยนงานตลอดเวลาไม่ยึดติดกับการทำงานที่ใดที่หนึ่ง เป็นระยะเวลานาน หลายคนทำงานที่บ้าน ขนาดครอบครัวเล็กลง คนโสดเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิด  ขณะเดียวกันเทรนด์ของการสร้าง ที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับความต้องการผู้สูงอายุหรือที่เรียกว่าตลาดรีไทร์เมนต์น่าสนใจ โดยเฉพาะ เชียงใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อม บรรยากาศตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าต่างชาติ หากรัฐบาลมี นโยบายที่ชัดเจนทำให้ตลาดเติบโตได้อีกมาก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

          การแข่งขันที่รุนแรง ต้องปรับตัว บริหาร ต้นทุนให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่รับมิวิกฤติได้ยาวนานที่สุดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และไม่ลงทุนเกินความจำเป็น การพัฒนาสินค้า และบริการเน้นความคุ้มค่า ทำให้แบรนด์มีความน่าเชือถือ ปรับดีไซน์ นวัตกรรม ที่รองรับการทำงานที่บ้านมากขึ้น เป็นต้น"

          อรรคเดช อุดมศิริธำรง ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด ระบุว่า จากข้อมูลตลาดอสังหาฯเชียงใหม่ พบว่า ตลาดบ้านเดี่ยวระดับราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาท หรือเกินกว่า10 ล้านบาทดีมานด์ติดลบ สวนทางการความเชื่อเดิมว่า เวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี บ้าน หรือคอนโด ระดับลักชัวรี่ ราคาแพงยังขายได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ ยาวนานกว่าปกติที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อชะลอตัว

          แม้จะเป็นผู้มีฐานะดีมีกำลังซื้อแต่คนเราคงจะไม่ซื้อบ้านเกิน 1-2 หลัง ต่อให้ลดราคา แล้วก็ตาม ฉะนั้นกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้ามา ในตลาดนี้ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะปริมาณ ของสต็อกเริ่มเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผู้ประกอบการ แห่ลงทุนแนวราบแทนคอนโด ขณะที่ตลาดคอนโดระดับราคา 1-1.5 ล้านบาทยังพอไปได้

          อัญชนา วัลลิภากร ประธานบริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำตลาดให้สามารถผ่านวิกฤติโควิด-19 จะต้องติดตามผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดแบบ เรียลไทม์ สร้างลูกค้าหรือแฟนคลับ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีรูปแบบที่หลากหลายตามกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาที่ต้องการ นำเสนอ เพราะกลุ่มลูกค้าในแต่ละเซกเมนต์ มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในท้องถิ่น คนต่างถิ่นและคนต่างชาติ โดยเฉพาะเชียงใหม่มีกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะคนจีน สังเกตได้จากมีการโอนกรรมสิทธิ์ ห้องชุดของชาวต่างชาติ ในปี 2562 อยู่ที่ 717 ยูนิต แต่ในปี 2563 เหลือ 237 ยูนิต ลดลง 54%

          และการที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วขึ้น การใช้ช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่ ทางเลือก แต่เป็น ทางรอด สังเกตได้ว่ายอดขายในช่องทางออนไลน์โต 1.4 เท่าในทุกหมวด ผู้บริโภค รู้จักแบรนด์/ร้านค้าใหม่ๆ จากโซเซียลมีเดีย ความภักดีต่อแบรนด์ลดลง เน้นการความน่าเชื่อถือและคุ้มค่ามากขึ้น

          ตลาดภาคเหนือยังคงเป็นแนวราบเป็นหลักโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะจีนหายไป จึงหันไปทำแนวราบเพื่อรองรับเรียลดีมานด์ทดแทนเพิ่มขึ้น