กกร.หั่นจีดีพีเหลือ0.5-2%
Loading

กกร.หั่นจีดีพีเหลือ0.5-2%

วันที่ : 20 พฤษภาคม 2564
 พิษโควิด-19 รอบสามแรงเกินต้าน ย้ำเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้น
  
          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุม กกร. ประจำเดือน พ.ค. ว่า กกร. ได้ปรับกรอบประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปี 64 ใหม่จากเดิม คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 1.5-3% เป็นขยายตัว 0.5- 2%  ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว สหรัฐจึงปรับการส่งออกจากเดิม โต 4-6% เป็น 5-7% ขณะที่เงินเฟ้อคงเดิมที่ 1-2% เนื่องจากการระบาด โควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงและส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้าลงกว่าเดิม โดยส่งผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อย่างมาก

          "โควิดที่ระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2% ดังนั้นการเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีน เช่น สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง"

          สำหรับเศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกไทย ซึ่งทำให้ไตรมาสแรกขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) โดยผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า และค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกต่อไป

          นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า ภาคการผลิตและการส่งออกยังเติบโตได้ แต่พบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ และปัญหาค่าระวางเรือระดับสูง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้