คลังเพิ่มวงเงินกู้ 1.5 แสนล. รับมือโควิดระลอกใหม่
Loading

คลังเพิ่มวงเงินกู้ 1.5 แสนล. รับมือโควิดระลอกใหม่

วันที่ : 29 กรกฎาคม 2564
ไฟเขียว เพิ่มวงเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 64 ใช้รับมือการระบาดไวรัสโคโรนา 2019
          ครม.ไฟเขียวกระทรวงการคลังกู้เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 64 ใช้รับมือการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม ยันระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 64 ไม่เกิน 60% ด้านสรรพากรเตรียมรีดภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ

          นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

          โดยมีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 150,000 ล้านบาท จากเดิม 1,647,131.74 ล้านบาท เป็น 1,797,131.74 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับความต้องการในการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเพื่อดำเนินแผนงาน หรือโครงการกู้เงินภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม) เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้สำหรับดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2564

          สำหรับวงเงินดังกล่าวเป็นการเปิดกรอบวงเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงการคลังยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงินแต่อย่างใด และจะกู้เงินเมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณาและเสนอครม.เพื่ออนุมัติแล้วเท่านั้น โดยกระทรวงการคลังไม่ได้กู้ทั้งจำนวนแต่จะทยอยกู้เงินตามความจำเป็นของแผนการใช้จ่ายเงิน

          ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 3 ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 เท่ากับร้อยละ 58.88 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัย การเงินการคลังไม่เกินร้อยละ 60

          ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายลูกของกฎหมายอีเซอร์วิสอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ก่อนที่กฎหมายอีเซอร์วิสจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก. ย.นี้โดยกำหนดให้บริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศที่ขายบริการให้กับคนในประเทศไทยต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวตในอัตราร้อยละ 7 โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ราว 20 บริษัท ตอบรับว่าจะเข้ามาจดทะเบียน
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ