ธปท.ห่วงค่าเงินบาทอ่อน
Loading

ธปท.ห่วงค่าเงินบาทอ่อน

วันที่ : 30 เมษายน 2565
ธปท.จะเข้าไปดูแลเงินบาทช่วงที่เกิดความผันผวนที่มากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เพื่อไม่ให้กระทบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ
          กระทบต้นทุนการผลิต-ราคาสินค้า-เงินเฟ้อ

          ธปท.กังวลค่าบาทอ่อนกระทบต้นทุนการผลิต-เงินเฟ้อ หากผันผวนเร็วไปหรือไม่สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจจะเข้าดูแล อย่างไรก็ ตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อได้ แต่ต้องติดตามการขึ้นราคาสินค้า หลังราคาดีเซลขยับขึ้น ด้าน "อาคม" ชี้บาทอ่อนช่วยภาคส่งออกแข่งขันได้

          นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทของไทยเดือน มี.ค.และ เดือน เม.ย. อ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าลงประมาณ 2.5% อย่างไรก็ตามเป็นการอ่อนค่าจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งจากความกังวลของนักลงทุนต่อสงครามยูเครน และรัสเซียการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเร็วและแรงกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)และเท่าที่ติดตามค่าเงินบาท ยังคงอ่อนค่าอยู่ในช่วงกลางๆ เป็นไปตามทิศทางค่าเงินของภูมิภาคซึ่งถือว่าเป็นไปตามพื้นฐานของเศรษฐกิจ

          "ธปท.จะเข้าไปดูแลเงินบาทช่วงที่เกิดความผันผวนที่มากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เพื่อไม่ให้กระทบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ขณะเดียวกันอีกส่วนที่ ธปท.เป็นห่วงและติดตามผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท คือผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าและการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศและในช่วงต่อไปที่ค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวน ผู้ประกอบการควรที่จะป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อน"

          นายสักกะภพกล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.อยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลงทั้งด้านการใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนของธุรกิจ โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.9% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.4% จากเดือนก่อนหน้าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 0.9% การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบของราคาสินค้าและพลังงานที่สูงขึ้น และความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่สูงขึ้นอย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกปรับตัวขึ้นโดยขยายตัว 18.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 210,000 คน เทียบกับปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาต่ำมาก

          "จากการประเมินภาพเศรษฐกิจทั้งไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับไตรมาส 4 ปี 64 เศรษฐกิจไตรมาสแรกยังขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องนอกจากนี้ทิศทางเดือน เม.ย. ยังพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวมทั้งพบการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ โดยเพิ่มขึ้นทั้งจากคนไทยเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วงต่อไปนี้ ยังต้องติดตามเพื่อดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง"

          ผู้อำนวยการอาวุโสธปท.กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตที่ส่งผ่านมาถึงราคาสินค้าและบริการพัฒนาการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศและมาตรการปิดเมืองสำคัญในจีนอาจกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา

          นอกจากนั้น ธปท.ยังคงติดตามการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 5% หรือมากกว่าในไตรมาส 2 และ 3 ของปี และลดลงในไตรมาส 4 โดยการประมาณการนี้ได้รวมการลอยตัวของราคาน้ำมันดีเซล ขายปลีกในประเทศไว้แล้ว แต่ต้องติดตามการปรับขึ้นราคาสินค้าที่จะตามมาจากการปรับขึ้นราคาดีเซลว่าราคาสินค้าจะมีการปรับขึ้นเป็นวงกว้างแค่ไหน และกระทบต่อเงินเฟ้อให้เปลี่ยนแปลงจากประมาณการหรือไม่

          ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงว่าเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีแต่อาจส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการแต่สิ่งสำคัญคือผลกระทบที่มีต่อราคาน้ำมันซึ่งรัฐบาลได้พยายามบริหารจัดการช่วยเหลือเรื่องราคาพลังงานในประเทศให้มากที่สุดซึ่งราคาน้ำมันเป็นไปตามราคาในตลาดโลก ส่วนการต่ออายุมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้นยังต้องรอประเมินก่อน"