ธปท.จ่อออกเกณฑ์ ป้องภัยระบบการเงิน
Loading

ธปท.จ่อออกเกณฑ์ ป้องภัยระบบการเงิน

วันที่ : 12 ตุลาคม 2565
ธปท.จึงออกแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรม เพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับการให้บริการทางการเงิน ทั้งด้านธรรมาภิบาล และด้านบริหารจัดการภัยทุจริตเพื่อให้มีมาตรการป้องกันและตรวจจับภัยทุจริต และตอบสนองและรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
           "ธปท." เปิดเฮียริ่ง แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริต จากการทำธุรกรรมการเงิน หวังแบงก์ ยกระดับมาตรฐานตรวจจับภัยทุจริต เพื่อดูแลผู้ใช้บริการการเงิน ด้านแบงก์กรุงเทพ-สมาคมธนาคารไทย เชื่อเป็น แนวปฏิบัติที่ดี ในการยกระดับมาตรฐานการทั้งระบบการเงิน

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) เกี่ยวกับแนวนโยบายการบริหารจัดการ ภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อผู้ให้บริการทางการเงินให้ความสำคัญ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสมเป็นธรรม ลดโอกาสที่ผู้ใช้บริการอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากภัยทุจริตต่างๆ เช่น การสวมรอยหรือขโมยข้อมูลไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน การหลอกลวงให้โอนเงิน การถูกบังคับ หรือหลอกลวงให้เปิดบัญชี เป็นต้น

          โดยธปท.จึงออกแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรม เพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับการให้บริการทางการเงิน ทั้งด้านธรรมาภิบาล และด้านบริหารจัดการภัยทุจริตเพื่อให้มีมาตรการป้องกันและตรวจจับภัยทุจริต และตอบสนองและรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การออกแนวนโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้แบงก์ทั้งระบบมีการยกระดับการดูแลป้องกันการทุจริตจากมิจฉาชีพต่างๆได้เพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทุกแบงก์ ก็มีมาตรการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว อีกทั้ง ทางสมาคมธนาคารไทย มีการทำงานใกล้ชิด และทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธปท. และตำรวจเพื่อติดตามสถานการณ์ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เชื่อว่าแนวนโยบายดังกล่าว มีจุดประสงค์หลักในการคุ้มครอง ผู้ใช้บริการทางการเงินมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการเงินทั้งอุตสาหกรรม ในการป้องปราบ ดูแลภัยจากมิจฉาชีพต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ

          โดยส่วนนี้ ก็ถือเป็นจุดที่ดี ที่แต่ละธนาคารต้องกลับมาทบทวนว่า แผนการดูแลภัยจากไซเบอร์ ภัยดิจิทัล จากมิจฉาชีพต่างๆ มีส่วนไหนที่ต้องทำ หรือยกระดับเพิ่มเติมหรือไม่

          ส่วนตัวมองว่าวันนี้ทุกฝ่ายกำลัง ร่วมมือกันในการช่วยเหลือ และป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ เพื่อให้การดูแลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับทั้งระบบ แต่หัวใจสำคัญคือ เรื่องนี้ต้องร่วมมือกับ ทุกฝ่ายทั้งแบงก์ และผู้ใช้บริการ ที่ต้อง ตระหนักเรื่องภัยดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งหาก เกิดผิดปกติก็สามารถสอบถามแบงก์ได้ทันที หรือควรมีการเช็คข้อมูลก่อนโอนเงินทุกครั้ง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมจำนวนมาก
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ