ธปท.เกาะติดหลังเฟดยังมุ่งขึ้นดอกเบี้ย
Loading

ธปท.เกาะติดหลังเฟดยังมุ่งขึ้นดอกเบี้ย

วันที่ : 4 พฤศจิกายน 2565
ธปท.มีการพิจารณาถึงภาระและผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่แล้วว่าจะมีกับใครบ้าง และพยายามบรรเทาผลกระทบให้ดีที่สุด เพราะเรายังอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว
          'อาคม' ชี้ต้องประคองระบบการเงินไม่ให้เป็นหนี้เสีย

          'อาคม' แจงแบงก์ชาติเกาะติดใกล้ชิดหลังเฟดยังมุ่งมั่นขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 1-2 ครั้ง หวังกดเงินเฟ้อฟุ้งสถาบันการเงินพยายามตรึงดอกเบี้ยช่วยลูกค้า บรรเทาภาระต้นทุนเต็มพิกัด

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รม.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ว่า เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในส่วนของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังเป็นขาขึ้นนั้น ที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้พยายามตรึงดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุดแล้ว โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการและรายย่อย

          "ธปท.มีการพิจารณาถึงภาระและผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่แล้วว่าจะมีกับใครบ้าง และพยายามบรรเทาผลกระทบให้ดีที่สุด เพราะเรายังอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าสหรัฐ ยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ครั้งนี้ก็ขึ้นเยอะ และยังเหลืออีก 1-2 ครั้ง ก็ต้องช่วยกันประคองให้ระบบการเงินของเราไปได้ และไม่เป็นหนี้เสีย โดยอาจจะต้องมาเรื่องวินัยการเงินการบริหารเงินต้องเข้มงวดกับตัวเองมากขึ้น และเรื่องเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจกลับเข้ามา" นายอาคมกล่าว

          น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษก ธปทกล่าวว่า การตัดสินนโยบายล่าสุดของเฟด และการสื่อสารเกี่ยวกับแนวนโยบายในอนาคตเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยขณะนี้เฟดมุ่งมั่นที่จะดูแลเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐเองในระยะยาว ทั้งนี้ หลังการประชุมอาจเห็นความผันผวนระยะสั้นในตลาดการเงินโลกและไทยบ้าง ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

          ในส่วนของการดำเนินนโยบายของไทยในระยะต่อไป ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของไทยเช่นกัน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการดำเนินนโยบายจะมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และให้ทันกาล ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินให้ดีที่สุด (กนง.) ได้สื่อสารมาต่อเนื่อง

          สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท การตัดสินนโยบายของเฟดส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเทียบกับทุกสกุล โดยในช่วงเช้า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนลง 0.8% และดัชนีค่าเงินบาท (เทียบสกุลภูมิภาค) ปรับอ่อนลง 0.34% ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ