คลังสั่งแบงก์รัฐตรึงดอกกู้ ธปท.มั่นใจสถาบันการเงินเอาอยู่หนี้เสีย
Loading

คลังสั่งแบงก์รัฐตรึงดอกกู้ ธปท.มั่นใจสถาบันการเงินเอาอยู่หนี้เสีย

วันที่ : 8 พฤศจิกายน 2565
ธนาคารของรัฐจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากอาจมีการขยับขึ้นบ้าง ปัจจุบันตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เฉลี่ยในระบบอยู่ที่ 3% แบ่งเป็นหนี้จากธนาคารของรัฐ คิดเป็น 5% และธนาคารอื่น ๆ คิดเป็น 2% ของทั้งระบบ
          คลัง ย้ำ ธนาคารของรัฐจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่ ธปท. เชื่อ สถาบันการเงินดูแลลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้ แม้ปีหน้าจะมีภาระต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ด้านแบงก์ทหารไทยธนชาต (TTB) ยัน คุมหนี้เสียปีนี้ต่ำเป้าที่ 2.8% “ผยง” ชี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนกัน เพราะมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้นั้น ไม่น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะนี้ โดยธนาคารของรัฐจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากอาจมีการขยับขึ้นบ้าง ปัจจุบันตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เฉลี่ยในระบบอยู่ที่ 3% แบ่งเป็นหนี้จากธนาคารของรัฐ คิดเป็น 5% และธนาคารอื่น ๆ คิดเป็น 2% ของทั้งระบบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำกับดูแลตัวเลขหนี้เสียดังกล่าวอยู่แล้ว

          นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มั่นใจว่า สถาบันการเงินจะดูแลลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้ และมีแนวทางการบริหารจัดการได้ แม้ในปี 2566 จะมีภาระต้นทุนการเงินในเรื่องของสถาบันการเงินนำส่งเงินเพื่อจ่ายหนี้คืนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่ที่ 0.46% ต่อปี หลังจาก ธปท.ได้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายสอดรับกับการเข้าสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

          ส่วนเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้นั้น จะต้องทำอย่างระยะยาวให้ยั่งยืน จากมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าลงทะเบียนเพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว 100,000 ราย คิดเป็น 200,000 บัญชี หรือเฉลี่ย 2 บัญชีต่อคน ซึ่งต้องการเข้าเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ โดยความช่วยเหลือนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เป็นเรื่องที่ต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งต้องแก้ไขให้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่พักชำระหนี้หรือช่วยเหลือแค่ชั่วคราว

          นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เห็นสัญญาณที่ลูกหนี้เริ่มผ่อนจ่ายค่างวดไม่ไหว เนื่องจากเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูง และมีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ออกจากให้ความช่วยเหลือแล้ว และได้กลับเข้ามาขอความช่วยเหลือใหม่ เพราะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ  อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่น่ากังวล เชื่อว่าหนี้เสียไม่สูง คาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.8% ต่ำกว่าเป้าหมาย NPL ปี  2565 ที่คาดว่าอยู่ที่ 3.2%

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ไม่เหมือนกัน เพราะมีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน สถานการณ์ยังไม่แน่นอน มีลูกหนี้ได้ออกจากความช่วยเหลือแล้วเข้ามาใหม่ แต่โดยภาพรวมแล้วลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือลดลง ซึ่งแต่ละรายมีปัญหาไม่เหมือนกัน โดยความช่วยเหลือเป็นแบบตรงจุดตรงเป้าหมาย ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังตกชั้นเป็น NPL 2 ล้านล้านบาท ขณะนี้เริ่มทยอยลดลง และยังต้องระมัดระวัง สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การฟื้นตัว แต่ยังไม่แข็งแรง
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ