มุมมอง ธปท.เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3-4%
Loading

มุมมอง ธปท.เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3-4%

วันที่ : 1 มีนาคม 2566
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว โดยคาดว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยยังสามารถโตได้อยู่ที่ 3-4%
          จับตาหนี้ครัวเรือน-การเงินดิจิทัล

          ปรับตัวสู่อุตสาหกรรมโลกใหม่

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวโดยคาดว่าในปี 2566 นี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถโตได้อยู่ที่ 3-4% โดยมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัว 25.5 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะเติบโต 3-4% การส่งออกสินค้าชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดย ธปท.ยังคงประมาณการการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 1% แต่ทั้งนี้ จากปัจจัยที่เข้ามาอาจส่งผลให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวติดลบ

          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุด (peak) แล้วในเดือนส.ค.65 ที่ระดับ 7.86% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้ากรอบ 1-3% ได้ในครึ่งหลังของปีนี้ โดยคาดว่าปี 66 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3% และต้องติดตามเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนของธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อปรับนโยบายการเงินปรับสู่ระดับปกติโดยการดำเนินการจะสามารถปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ และยังมีมาตรการทางการเงินเฉพาะจุดเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง

          ทั้งนี้ พบความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คือ เมื่อเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ระยะต่อไปต้องดูแลให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนโดยมีความท้าทาย 3 ด้านที่ยังรออยู่ ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน การเข้าสู่ระบบการเงินดิจิทัล รวมทั้งการรับมือและปรับตัวเพื่อไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยไทยมีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบเร็วและรุนแรงกว่าคาด ขณะที่ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร และกว่า 20% ของโรงงานไทยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

          นอกจากนั้น ยังมีปัญหาของภาคอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในโลกเก่า ไม่รองรับกระแสความยั่งยืนได้ทันเวลา โดยจากการสำรวจพบว่า 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในโลกเก่า ได้แก่ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีและ 13% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังออกมาในหลายประเทศทั่วโลก