REIC เผยตลาดที่อยู่อาศัยภาคอีสาน ครึ่งหลังปี65หน่วยเหลือขายขยับเพิ่ม2.8%
Loading

REIC เผยตลาดที่อยู่อาศัยภาคอีสาน ครึ่งหลังปี65หน่วยเหลือขายขยับเพิ่ม2.8%

วันที่ : 29 มีนาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม พบหน่วยเหลือขายครึ่งหลังปี 65 เพิ่มขึ้น 2.8% ขณะที่อัตราดูดซับอยู่ที่ 2.9%
         
          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) กล่าวว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ครึ่งหลังปี 65 พบว่า มีซับพลายพร้อมขาย 13,191 หน่วย มูลค่า 45,173 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการอาคารชุด 2,525 หน่วย มูลค่า 5,453 ล้านบาท โครงการบ้านจัดสรร 10,666 หน่วย มูลค่า 39,721 ล้านบาท โดยเป็นโครงการใหม่ที่เข้าสู่ตลาด 2,383 หน่วย มูลค่า 8,612 ล้านบาท และโครงการที่ขายได้ใหม่ 2,312 หน่วย มูลค่า 8,325 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 10,879 หน่วย มูลค่า 36,848 ล้านบาท

          ทั้งนี้ เมื่อเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 5 จังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ 1 ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขายถึง 5,946 หน่วย หรือ 45.1% มูลค่า 22,980 ล้านบาท คิดเป็น 50.9%  ขณะที่ขอนแก่นมีหน่วยเสนอขาย 4,439 หน่วย คิดเป็น 33.7% และ ขอนแก่น มูลค่า 12,324 ล้านบาท คิดเป็น 27.3%  แต่กลับมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด โดยมีการเปิดตัวทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดรวม 1,184 หน่วยคิดเป็น 49.7% มูลค่า 2,860 ล้านบาท หรือ 33.2% ของหน่วยที่เปิดขายใหม่ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่น

          ส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด 947 หน่วย คิดเป็น 41.0% มูลค่า 4,137 ล้านบาท หรือ 49.7%  โดยมีอัตราการดูดซับที่ 2.7% ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าจังหวัดอื่นเล็กน้อยเนื่องจากซับพลายในตลาดที่มีมาก และขอนแก่น รองลงมาเพียงเล็กน้อยที่ 871 หน่วย คิดเป็น 37.7% มูลค่า 2,472 ล้านบาท หรือ 29.7%  โดยมีอัตราการดูดซับที่ 3.3% ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นมีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรสูงสุด3.4% โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมาตลอดสองปี และมหาสารคามมีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุด 4.6% แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราการดูดซับที่สูงกว่าช่วงก่อนหน้า

          ดร.วิชัยกล่าวว่า สำหรับซัปพลายรวม ในช่วงครึ่งหลังปี 65 พบว่ามีที่อยู่อาศัยเสนอขาย 13,191 หน่วย มูลค่า 45,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.3%  และมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกมูลค่าลดลง -3.5% โดยเป็นโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนเพียง 2,383 หน่วย มูลค่า 8,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน178.1%  และ 201.4 %ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกหน่วยเพิ่มขึ้น14.8% มูลค่าเพิ่มขึ้น 39.5% ขณะที่ที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ สิ้นปี 65 จำนวน 10,879 หน่วย มูลค่า 36,848 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น2.8% แต่เมื่อเทียบกับครึ่งแรก จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 4.1% มูลค่าเพิ่มขึ้น 5.1%

          ดีมานด์โดยรวม พบว่าในช่วงครึ่งหลังปี 65 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 2,312 หน่วย มูลค่า 8,325 ล้านบาท ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 1,843 หน่วย มูลค่า 6,936 ล้านบาท และอาคารชุดเพียง 469 หน่วย มูลค่า 1,389 ล้านบาท ซึ่งทำเลที่มีหน่วยขายได้สูงสุด 5 อันดับแรกคือ อันดับ 1 บึงแก่นนคร จำนวน 281 หน่วย มูลค่า 751.3 ล้านบาท  อันดับ 2 จอหอ จำนวน 216 หน่วย มูลค่า 688.6 ล้านบาท อันดับ 3 ในเมืองนครราชสีมา จำนวน 188 หน่วย มูลค่า 636.0 ล้านบาท  อันดับ 4 บ้านใหม่-โคกกรวด จำนวน 152 หน่วย มูลค่า 444.3 ล้านบาท และอันดับ 5 บ้านเป็ด จำนวน134 หน่วย  มูลค่า 485.3 ล้านบาท
ข่าวอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาค อื่นๆ