อสังหาเชียงใหม่ บุกลีสซิ่ง ปั้นจำนำทะเบียนเงินซิ่งได้
Loading

อสังหาเชียงใหม่ บุกลีสซิ่ง ปั้นจำนำทะเบียนเงินซิ่งได้

วันที่ : 15 มิถุนายน 2566
อรสิรินกรุ๊ป ยักษ์อสังหาฯ เชียงใหม่ บุกเบิกลงทุนไฟแนนซ์ แตกบริษัทลูก เงินซิ่งได้ ปั้นพอร์ตลีสซิ่งรถยนต์มือสอง กางแผน 3 ปี ผุดสาขาคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ วางเป้าดันยอดสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ก่อนเข้าตลาดหุ้น mai
         
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสถานการณ์โควิดทำให้กลุ่มทุนท้องถิ่นที่เป็นนักลงทุน ระดับบิ๊กเพลเยอร์ของประเทศไทย ตระหนักว่าการทำธุรกิจที่ยืนบนขาเดียวไม่สามารถสร้างการเติบโตยั่งยืนได้อีกต่อไป นำมาสู่การกระจายความเสี่ยงการลงทุนขนานใหญ่

          หนึ่งในวิธีการที่นิยมนำมาใช้คือการ spin off ธุรกิจเดิมและแสวงโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ ปลายทางสุดท้ายอยู่ที่การผลักดันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างให้เป็นองค์กรมืออาชีพ มีมาตรฐานสากล

          ปัจจัยกดดันยังมาจากกลุ่มทุนท้องถิ่น มองว่าการบริหารสไตล์แฟมิลี่บิสซิเนสไม่ตอบโจทย์การทำธุรกิจในระยะยาว โดยมีตัวแบบจากกลุ่มอรสิรินกรุ๊ป ของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เจ้าของโรงแรมรติล้านนา จ.เชียงใหม่ และประธานกรรมการ อรสิรินกรุ๊ป ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในเชียงใหม่ ล่าสุดได้เริ่มต้นแตกไลน์ลงทุนธุรกิจไฟแนนซ์ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา

          เป้า 3 ปีเข้าตลาดหุ้น mai

          นายอรรคเดช อุดมศิริธำรง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินซิ่งได้ ฟอร์ ควิก แคช จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เงินซิ่งได้เป็นบริษัทจัดตั้งใหม่ในเครืออรสิรินกรุ๊ป หลังจากเปิดดำเนินการได้ 1 ปีเศษ มีผลประกอบการล่าสุด ณ เดือนมีนาคม 2566 มียอดปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถแล้ว 400 ล้านบาท

          มีอัตราหนี้เสียหรือ NPL อยู่ที่ 2% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของวงการที่มีอัตราหนี้เสีย 3% และเป็นระดับอัตราหนี้เสียที่ต้องการรักษาไว้ไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอนาคต เพราะมีแผนจะนำเงินซิ่งได้เข้าตลาดหุ้น mai ภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2570

          ดังนั้น ในระหว่างนี้จึงเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมบริษัทเงินซิ่งได้ ในการแปลงเป็นบริษัทมหาชน อาทิ การเตรียมความพร้อมด้านระบบบัญชีมาตรฐาน การจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรและธุรกิจ แผนลงทุนปัจจุบันและอนาคต

          ตามแผนต้องการสร้างพอร์ตปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือธุรกิจ ลีสซิ่งให้มีขนาด 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นขนาดธุรกิจที่มีการสะสมประสบการณ์มาแล้ว และมีโอกาสเติบโตไปข้างหน้าได้อีกด้วย

          ยึดหัวหาด 17 จังหวัดภาคเหนือ

          ปัจจุบันเงินซิ่งได้เปิดบริการแล้ว 18 สาขา กระจายอยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน และสุโขทัย

          เบื้องต้นหลักคิดในการจัดตั้ง 1 สาขา มาจากยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 15 ล้านบาท ซึ่งเนื้องานหลักของสาขาจะเป็นเรื่องการเก็บหนี้-ตามหนี้ อัตราส่วนพอร์ตปล่อยสินเชื่อ 15 ล้านบาทน่าจะเหมาะสมกับงานเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

          อย่างไรก็ตาม หลังจากมีประสบการณ์จริงในช่วง 1 ปีเศษ พบว่าอุปสรรคสำคัญของธุรกิจลีสซิ่งคือเรื่องบุคลากร ทั้งในขาปล่อยสินเชื่อ และในขาตามเก็บหนี้ ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจลีสซิ่งรายใหญ่ในวงการ การเปิด 1 สาขาจะคำนวณเฉลี่ยจากยอดปล่อยสินเชื่อ 50 ล้านบาท

          ดังนั้น แผน 3 ปีในการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงรีโมเดลแผนธุรกิจเล็กน้อย โดยประเมินจากยอดปล่อยสินเชื่อ 50 ล้านบาทต่อการตั้ง 1 สาขา และตั้งเป้าจะเปิดสาขาให้ครบ 17 จังหวัดภาคเหนือ เบื้องต้นจำกัดพื้นที่การตลาดในเขตภาคเหนือเท่านั้น เพราะต้องการทำธุรกิจลีสซิ่งเพื่อคนภาคเหนือ

          "การเปิดสาขากับวงเงินลงทุนมีความยืดหยุ่นสูง เพราะเรารู้แล้วว่าไม่มี ความจำเป็นที่จะต้องเน้นปริมาณสาขาเยอะ ๆ เพราะธุรกิจลีสซิ่งขึ้นกับคุณภาพลูกหนี้ และความสามารถในการติดตามหนี้เป็นหลัก"

          รถยนต์มือสอง-ลูกหนี้เกษตรกร

          สำหรับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อ นายอรรคเดชกล่าวว่า พื้นที่การตลาดของเงินซิ่งได้ โฟกัสรอบนอกเมือง โดยเฉพาะลูกค้าเกษตรกรซึ่งมีรายได้หลักจากผลผลิตพืชเศรษฐกิจ พฤติกรรมการจ่ายหนี้มีอัตราหนี้เสียต่ำกว่าลูกหนี้ ในเขตเมือง

          "ลูกหนี้เกษตรกรแทบจะไม่มีปัญหาเบี้ยวหนี้ ถ้ามีก็เป็นส่วนน้อยมาก เพียงแต่เราต้องเข้าใจอุปนิสัย เช่น บางคนจ่ายค่างวดทีเดียว 6 งวด แล้วหายไปนาน ๆ อาจจะมีปัญหาฝนฟ้าไม่ดี ผลผลิตตก แต่ถ้ามีเงินเมื่อไหร่เขาก็จ่ายจนครบ ค่างวดเหมือนไม่สม่ำเสมอทุกงวด แต่จ่ายครบ"

          เรื่องถัดมา จุดโฟกัสเงินซิ่งได้เน้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือสอง ไม่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ เพราะยอดสินเชื่อกับการเก็บหนี้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด กฎเหล็กอีกเรื่องคือยอดปล่อยสินเชื่อ

          โดยมูลค่าหลักประกันรถยนต์มือสอง 100% จะปล่อยสินเชื่อที่สัดส่วน 60-70% มีเพดานปล่อยสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท เฉลี่ยอยู่ที่คันละ 1.7-1.8 แสนบาท คิดเป็นค่างวดเพียง 2,700-2,900 บาท ถือว่าเป็นภาระจ่ายหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ รายละไม่เกิน 60 งวด

          "เปรียบเทียบการปล่อยรถยนต์ มือสองค่างวด 3,000 บาท กับค่างวดมอเตอร์ไซค์คันละ 800 บาท แต่เราต้องใช้คนตามหนี้เท่ากัน ความคุ้มค่าที่จะตามเก็บหนี้รถยนต์ย่อมดีกว่าแน่นอน"

          ไม่สนใจทำพิโกไฟแนนซ์

          นายอรรคเดชกล่าวถึงแหล่งทุนว่า อรสิรินกรุ๊ปมีรากฐานจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในรูปแบบโรงแรม และโครงการบ้าน-คอนโดมิเนียม และมีแลนด์แบงก์กระจายในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออก

          ทั้งนี้ ในการลงทุนธุรกิจ เดิมใช้เงินทุน ตัวเอง เพราะสไตล์การทำธุรกิจเน้นลงทุน แบบคอนเซอร์เวทีฟ การ spin off ด้วยการ แตกไลน์ลงทุน และพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเน้นการทำธุรกิจคอนเซอร์เวทีฟเหมือนเดิม แต่จะมีการกู้จากสถาบันการเงินมาใช้ลงทุนมากขึ้น เพื่อสร้างเครดิตให้ปรากฏ รวมทั้งสร้างโอกาสเติบโตให้กับธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น

          ปัจจุบันอรสิรินกรุ๊ปมีต้นทุนการเงิน หรือพรีไฟแนนซ์สำหรับนำมาลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย อยู่ที่ MLR-2.25% ในขณะที่การกู้เงินพรีไฟแนนซ์เพื่อมาลงทุนลีสซิ่ง สถาบันการเงินปล่อยในอัตรา MLR ปกติ ดอกเบี้ยไม่บวก ไม่ลบ

          "สถานการณ์โควิดทำให้ต้องกลับมา ทบทวนทิศทางการลงทุนใหม่ของ อรสิรินกรุ๊ป เพราะการทำแต่ซื้อมาขายไปแลนด์แบงก์ที่มี ลงทุนอสังหาฯ ทำโรงแรม เฟอร์ฯ ส่งออก ล้วนถูกผลกระทบจากโควิด จึงเหมือนกับวางไข่ใน ตะกร้าใบเดียว ในขณะที่มีความได้เปรียบเรื่องเงินทุนอยู่บ้าง แต่โนว์เลดจ์ในการทำธุรกิจอื่น อาทิ โรงไฟฟ้า ศูนย์การค้า ปัมน้ำมัน เราทำไม่เป็น"

          "จังหวะและโอกาสดี มีคนแนะนำว่าปัญหาหนี้นอกระบบมีมหาศาล ธุรกิจไฟแนนซ์กำลังบูม ความต้องการสินเชื่อของคนรอบนอกมีตลอดเวลา จึงสนใจเข้ามาลงทุนลีสซิ่ง เพราะต้องการวางไข่หลายตะกร้ามากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนมากขึ้น"

          ปัจจุบันอรสิรินกรุ๊ปมีใบอนุญาตทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถ กับมีใบอนุญาตโบรกเกอร์ประกันภัย ทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต

          กฎเหล็กที่จะไม่ทำคือ การปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น มีคำถามว่าสนใจทำพิโกไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ซึ่งรัฐบาลกำหนดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดปีละ 36% หรือไม่ นโยบายคือไม่สนใจ เพราะมองว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า

          "ลีสซิ่งที่เราทำ เพดานดอกเบี้ยปีละ 24% แต่มีหลักประกันเป็นรถยนต์ มือสอง เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ผู้กู้มีความจำเป็นต้องใช้ โอกาสจะเบี้ยวหนี้จึงมีต่ำกว่า" นายอรรคเดชกล่าว