เอกชนหวังผู้ว่าธปท.ใหม่ รับมือบาทแข็ง-ลดดอกเบี้ย เพิ่มกำลังซื้อ ฟื้นเศรษฐกิจ
Loading

เอกชนหวังผู้ว่าธปท.ใหม่ รับมือบาทแข็ง-ลดดอกเบี้ย เพิ่มกำลังซื้อ ฟื้นเศรษฐกิจ

วันที่ : 23 กรกฎาคม 2568
สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สะท้อนว่า เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ว่าธปท.ต้องดำเนินการคือ เศรษฐกิจในภาพรวมท่ามกลางความอ่อนแอของกำลังซื้อ แม้เอกชนต้องการลดดอกเบี้ยนโยบายผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในนัดถัดไป ซึ่งมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะเป็นระยะสั้นๆ ไม่สามารถลงได้มาก เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ลง
    ภาคเอกชนคาดหวังผู้ว่าธปท. คนใหม่ "วิทัย รัตนากร" ประสานนโยบายการคลัง-การเงิน แก้ปัญหาเงินบาทแข็ง-ดอกเบี้ยสูง พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับ SMEs

    คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ก.ค. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 25 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายและความคาดหวังในการนำพาธปท.และนโยบายการคลังของรัฐบาลไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันการดำเนินงานในยุคใหม่ภายใต้การนำของนายวิทัยถูกจับตามองเป็นพิเศษทั้งจากภาครัฐและเอกชน

   นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ "ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้มีวิกฤตเรื่องการเงิน การคลัง ที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด จากประวัติและผลงานที่ผ่านมาของผู้ว่าธปท.คนใหม่ถือว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะเข้ามาบริหารงานในปัจจุบันซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาปกติ

   สำหรับปัญหาเร่งด่วนอันดับแรกคือ แก้เรื่องเงินบาทแข็งค่าที่ค่อนข้างผิดปกติ กระทบภาคส่งออกที่ต้องพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนสูง ถัดมาคือเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs แม้ธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแรงและมีอัตรากำไรดี แต่ต้องดูแลผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยให้อยู่รอด รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ต้องเริ่มจากการทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนก่อน

   "เรื่องเหล่านี้สัมพันธ์กับอัตรา 36% ที่ยังไม่แน่นอนว่า จะรวมกับภาษี 10% ที่เก็บอยู่เดิมหรือไม่ โดยภาคเอกชนตั้งความหวังไว้ว่าจะได้ประมาณ 20% เท่ากับหรือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง และยังคงต้องติดตามการบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด หวังให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้"

    นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรกล่าวว่า เรื่องแรกอยากให้ผู้ว่าธปท.ใหม่ สื่อสารแนวทางดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้น หากไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจซื้อบ้าน นักลงทุนต่างชาติ และ ผู้ประกอบการ

   เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทยระบุว่า เรื่องเร่งด่วนที่เอกชนอยากเห็นคือ

   1.ผู้ว่าธปท.ทำงานร่วมกับ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังอย่างสอดคล้องกันรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลง

   2.ผลักดันการลดดอดเบี้ยนโยบายสู่การปรับดอกเบี้ยที่แท้จริง เพื่อลดภาระประชาชนและภาคธุรกิจที่แท้จริง

   3.ขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นลำดับแรกของความสำคัญเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชนควบคู่เสถียรภาพทางการเงิน

    4.สร้างการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเงินฝาก ผ่านการเพิ่มผู้เล่นมากขึ้นในระบบธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ และ5.แก้หนี้เสียรายย่อยในระบบร่วมกับคลัง

    นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สะท้อนว่า เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ว่าธปท.ต้องดำเนินการคือ เศรษฐกิจในภาพรวมท่ามกลางความอ่อนแอของกำลังซื้อ แม้เอกชนต้องการลดดอกเบี้ยนโยบายผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในนัดถัดไป ซึ่งมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะเป็นระยะสั้นๆ ไม่สามารถลงได้มาก เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ลง รวมถึงต้องคำนึงถึงการไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ "โดยสรุป ต้องเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ลดภาระหนี้สินผู้กู้ หรือหนี้ครัวเรือน ที่สำคัญ ต้องเจรจากับธนาคารพาณิชย์ให้กล้าปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่แท้จริง"

   นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าและความกังวลเกี่ยวกับภาษีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการไทย เป็นปัญหาที่ทำให้การส่งออกทำได้ยากขึ้น หากไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้เกรงว่า อุตสาหกรรมไทยในอนาคตจะถูกต่างชาติถือครองเป็นส่วนใหญ่

   ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันถือว่า ค่อนข้างฝืด ถ้าไทยขาดช่วงในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง อาจทำให้ผู้ประกอบการล้มตายได้ นโยบายเรื่องการเงินการคลังในช่วงครึ่งหลังปี 2568 จะต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจสูงสุดอาจเรียกว่า ช่วงจำเป็นที่จะต้องทุ่มเม็ดเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ประคองเศรษฐกิจให้รอดในวิกฤตให้ได้ก่อน

   นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)กล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมมีข้อเสนอแนะหลักๆ คือ การพิจารณาลดภาระทางการเงินของธุรกิจ โดยอยากให้มีการออกมาตรการผ่อนชำระดอกเบี้ย ภาระผูกพัน เพื่อให้สถาบันการเงินมีมาตรการที่ยืดหยุ่นในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ

   ทั้งนี้ปกติช่วงเดือนมิถุนายนสิงหาคมจะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) แต่ธุรกิจโรงแรมยังต้องชำระภาษีที่ดินทั่วประเทศ โดยเฉพาะปี 2568 ที่หลายโรงแรมขาดกระแสเงินสด โดยเฉพาะโรงแรมในต่างจังหวัดที่มีเนื้อที่เยอะ แม้ไม่ได้เป็นโรงแรมระดับ 4-5 ดาวก็ตาม จึงอยากให้ ธปท.มีมาตรการยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนภาระการเงินเหล่านี้

   รวมถึงเรื่องความยั่งยืน ต้องการให้ธปท.พิจารณาช่องทางในการสนับสนุน โดยอาจมีแพ็กเกจช่วยให้ธุรกิจโรงแรม ดำเนินการเรื่องกรีนโฮเทล หรือโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจช่วยเรื่องค่าตรวจประเมินในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีโรงแรมจำนวน 600 แห่งพยายามตรวจประเมินให้ผ่านเกณฑ์สู่กรีนโฮเทลในปี 2569 นี้

   "ผู้ว่าธปท.คนใหม่ถือเป็นความคาดหวังว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการรับฟังเสียงสะท้อนของธุรกิจมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเรื่องของภาษีทรัมป์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก โรงงานการจ้างงานต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ ธปท.น่าจะมีการกำหนดนโยบายที่

   ยืดหยุ่นและสนับสนุนผู้ประกอบการ แม้ไม่ได้รับข้อเสนอไปดำเนินการ แต่ขอให้รับฟังก่อน ไม่ใช่นิ่งเฉยไปเลย"