สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคกลาง-ภาคตะวันตก ครึ่งแรก ปี 2566 คอนโดฯสร้างเสร็จเหลือขายสร้างปัญหาหนัก บ้านจัดสรรส่งสัญญาณฟื้นตัว
Loading

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคกลาง-ภาคตะวันตก ครึ่งแรก ปี 2566 คอนโดฯสร้างเสร็จเหลือขายสร้างปัญหาหนัก บ้านจัดสรรส่งสัญญาณฟื้นตัว

วันที่ : 22 กันยายน 2566
รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี  2566 ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี  และภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี  พบว่าภาพรวมภาคตะวันตก 2 จังหวัด มีจำนวนหน่วยเหลือขายในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ลดลงร้อยละ -20.9 มีผลให้อัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ 1.7 REIC คาดการณ์ ปี 2566 จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน 485 หน่วย มูลค่า 2,709 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 1,091 หน่วย มูลค่า 5,549 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย 4,755 หน่วย มูลค่า 23,370 ล้านบาท ขณะที่ภาคกลาง 2 จังหวัดมีจำนวนหน่วยเหลือขายในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ลดลงร้อยละ -11.7 และมีผลให้อัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ 2.4 REIC คาดการณ์ ปี 2566 จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน 801 หน่วย มูลค่า 2,115 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 2,580 หน่วย มูลค่า 7,845 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย 7,254 หน่วย มูลค่า 22,810 ล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันตก 2 จังหวัด ครึ่งแรกปี 2566 พบว่า จำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ 5,684 หน่วย มูลค่า 28,116 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด  2,897 หน่วย มูลค่า 13,587 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 2,787 หน่วย มูลค่า 14,529 ล้านบาท มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด 323 หน่วย มูลค่า 1,806 ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน 576 หน่วย มูลค่า 2,932 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 5,108 หน่วย มูลค่า 25,184 ล้านบาท 
“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 2 จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดเพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ 1 และ 2 ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขายโดยจังหวัดเพชรบุรีมีการเสนอขายถึง  3,047 หน่วย มูลค่า 12,594 ล้านบาท และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2,637 หน่วย มูลค่า 15,522 ล้านบาท หน่วยที่เสนอขายทั้งหมด ตามลำดับ แต่กลับเห็นว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด โดยมีการเปิดตัวบ้านจัดสรรรวม 164 หน่วย มูลค่า 1,369 ล้านบาท 

นอกจากนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด 321 หน่วย มูลค่า 1,865 ล้านบาท โดยมีอัตราการดูดซับที่โดยรวมของตลาดร้อยละ 2.0 ต่อเดือน ขณะที่จังหวัดเพชรบุรี 255 หน่วย มูลค่า 1,067 ล้านบาท โดยมีอัตราการดูดซับโดยรวมของตลาดที่ร้อยละ 1.4 ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์มีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรเท่ากันร้อยละ 1.8 และประจวบคีรีขันธ์มีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดร้อยละ 2.4”  

สำหรับภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี พบว่า จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัย ครึ่งแรกปี 2566 พบว่าจำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ 9,567 หน่วย มูลค่า 29,889 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 448 หน่วย มูลค่า 899 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 9,119 หน่วย มูลค่า 28,990 ล้านบาท มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด 534 หน่วย มูลค่า 1,410 ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน 1,403 หน่วย มูลค่า 4,248 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 8,164 หน่วย มูลค่า 25,640 ล้านบาท 

“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 2 จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขาย 7,458 หน่วย  มูลค่า 24,001 ล้านบาท และจังหวัดสระบุรีมีจำนวนและมูลค่าอยู่ที่ 2,109 หน่วย มูลค่า 5,887 ล้านบาท  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยมีการเปิดตัวทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดรวม 534 หน่วย  มูลค่า 1,410 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นหน่วยบ้านจัดสรร 455 หน่วย  มูลค่า 1,274 ล้านบาท และอาคารชุด 79 หน่วย มูลค่า 136 ล้านบาท  

ในด้านภาวะตลาดด้านการขาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด 1,216 หน่วย  มูลค่า 3,803 ล้านบาท โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ 2.7 ต่อเดือน ขณะที่ ลงมาเป็นจังหวัดสระบุรี 187 หน่วย มูลค่า 446 ล้านบาท  โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอัตราดูดซับทั้งอาคารชุดและบ้านจัดสรรสูงสุดร้อยละ 7.8 และ 2.4ตามลำดับ”

อุปทานโดยรวมภาคตะวันตก ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมด จำนวน 5,684 หน่วย มูลค่า 28,116 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ -26.3 และมูลค่าลดลงร้อยละ -23.6 ตามลำดับ โดยเป็นโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนเพียง 323 หน่วย มูลค่า 1,806 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ -81.3 และร้อยละ -79.7 ตามลำดับ ขณะที่ที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ ครึ่งแรกปี  2566 จำนวน 5,108 หน่วย มูลค่า 25,184 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -20.9 และมูลค่าลดลงร้อยละ -18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

โดย 5 ทำเล ที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากที่สุดใน 2 จังหวัดภาคตะวันตกคือ อันดับ 1 ทำเลชะอำตอนเหนือจำนวน 1,401 หน่วย มูลค่า 5,875 ล้านบาท อันดับ 2 ทำเลชะอำตอนใต้ จำนวน 977 หน่วย มูลค่า 4,144 ล้านบาท  อันดับ 3 ทำเลเขาตะเกียบ จำนวน 639 หน่วย มูลค่า 4,863 ล้านบาท อันดับ 4  ทำเลเขาหินเหล็กไฟ จำนวน 606 หน่วย มูลค่า 3,281 ล้านบาท  อันดับ 5 ทำเลปราณบุรี จำนวน 398 หน่วย มูลค่า 1,754 ล้านบาท โดยระดับราคาที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุดคือ 3.01-5.00 ล้านบาท มีจำนวนถึง 1,933 หน่วย มูลค่า 8,103 ล้านบาท 

อุปสงค์โดยรวมภาคตะวันตก  พบว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2566 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 576 หน่วย มูลค่า 2,932 ล้านบาท  แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 299 หน่วย มูลค่า 1,538 ล้านบาท และอาคารชุดเพียง 277 หน่วย มูลค่า 1,393 ล้านบาท ซึ่งทำเลที่มีหน่วยขายได้สูงสุด 5 อันดับแรกคือ อันดับ 1 ชะอำตอนใต้ จำนวน 115 หน่วย มูลค่า 390 ล้านบาท  

อันดับ 2 ชะอำตอนเหนือ จำนวน 109 หน่วย มูลค่า 551 ล้านบาท อันดับ 3 เขาตะเกียบ จำนวน 100 หน่วย มูลค่า 750 ล้านบาท  อันดับ 4 หัวหิน จำนวน 69 หน่วย มูลค่า 227 ล้านบาท และอันดับ 5 ทับใต้ จำนวน 65 หน่วย มูลค่า 552 ล้านบาท
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่