รัฐลุย พหลโยธินโมเดล ทุ่ม4หมื่นล.ผุดสมาร์ทซิตี้
Loading

รัฐลุย พหลโยธินโมเดล ทุ่ม4หมื่นล.ผุดสมาร์ทซิตี้

วันที่ : 19 มิถุนายน 2561
รัฐลุย พหลโยธินโมเดล ทุ่ม4หมื่นล.ผุดสมาร์ทซิตี้

รัฐบาลเล็งทุ่ม 4 หมื่นล้านบูรณาระบบขนส่ง-โมบิลิตี้-ไฟฟ้า นำร่องโซน "พหลโยธิน" สู่ย่านสมาร์ทซิตี้เต็มรูปแบบวางเป้า 3 ปีแล้วเสร็จ ด้าน"เจโทร"บูมสมาร์ทซิตี้อาเซียน วางระบบ 26 เมืองในภาคีสู่แผนพัฒนาถึงปี 68

วานนี้ (18 มิ.ย.) องค์การส่งเสริมการค้า ต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) จัดประชุมสัมมนาความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นสร้างเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ อาเซียน เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการเห็นพ้องของประเทศอาเซียนเมื่อการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 32 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมาย ที่จะจัดตั้งเครือข่ายสมาร์ทซิตี้อาเซียน 26 แห่ง รวมถึง 3 แห่งในประเทศไทย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยในปีนี้จะดำเนินการเร่งด่วนใน  7 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ระยอง และฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ ยังมีแผนขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อดำเนินงานรายสาขาตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ภายใต้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งใน  6 อัตลักษณ์ คือ ชุมชนอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คมนาคมอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ และการบริหารจัดการอัจฉริยะ

นำร่องสมาร์ทซิตี้"พหลโยธิน"

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นรัฐบาลได้ลงความเห็นว่าจะมีการนำร่องสร้างโซนอัจฉริยะขึ้น กรอบการดำเนินงานครบทั้งหมดคือใน 3 ปี ใช้งบประมาณราว 30,000-40,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้เป็นในพื้นที่ย่านพหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ มีแหล่งการค้า ย่านธุรกิจและยังเป็นจุดรวมกันของระบบขนส่งคมนาคมทั้งระบบรางรถไฟ รถไฟฟ้า รถตู้ รถบัสโดยสาร และรถประจำทางสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาด้านการจราจรอย่างมาก จึงควรต้องนำระบบขนส่งอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ทั้งการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ยั่งยืน

"การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นำเอาไอทีมารวมกับการบริหารเมืองให้ควบคู่กันไป ซึ่งตอนนี้ไทยมีสมาร์ทซิตี้ด้านดิจิทัลไปแล้วในกรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต แต่เราอยากให้ระบบทุกอย่างเป็นสมาร์ทซิตี้ทั้งหมดไม่ใช่แค่ดิจิทัล ทั้งด้านคมนาคม  ไฟฟ้า ประปา และการบริหารจัดการเมือง เราจึงเลือกย่านพหลโยธินขึ้นมาเป็นโซนนำร่องก่อน ซึ่งจะเริ่มวางกรอบการทำงานภายในเดือนก.ค.นี้" พล.อ.อ.ประจิน ระบุ

แผนปฏิบัติการเสร็จต.ค.นี้

ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายไปสู่แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของแต่ละเมืองระหว่างปี 2561-2568 โดยตั้งเป้าว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ ในส่วนความคืบหน้าของประเทศไทยนั้น  ที่ผ่านมาได้จัดตั้งคณะกรรมการสมาร์ทซิตี้แห่งชาติ ซึ่งมีพล.อ.อ.ประจิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และร่วมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเลขาธิการร่วมได้แก่ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ด้วยแผนแม่บทพัฒนาเมืองอัจฉริยะปี2560 -2564 เชื่อว่าจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ทันสมัย ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน เป้าหมายของแผนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 10 เมือง ในปี 2562 และ 30 เมืองในปี 2565 มิติของการพัฒนาจะมุ่งสร้างโครงข่ายการบริการภาครัฐ  การคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัย การศึกษา พลังงานสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลทิน นอกจากนี้จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมืองอัจฉริยะของอาเซียน

ญี่ปุ่นเล็งร่วมไทยดันสมาร์ทซิตี้

นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) และหัวหน้าผู้แทนประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 32 ที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ร่วมกัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เจโทรเล็งเห็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นรวมไปถึงการเชื่อมโยงการดำเนินการร่วมกันกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี)

ทั้งนี้ มองว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จนั้นมีปัจจัยหลักอยู่ 3 ประการคือ 1.ธุรกิจและประชาชนในท้องถิ่นจะต้องเกิดความต้องการและเรียกร้องให้เกิดเมือง อัจฉริยะ 2.รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

และ 3.ความร่วมมือกันของภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ภาคธุรกิจ และประชาชน ในรูปแบบพีพีพีตามแนวทางการดำเนินการ

เปิด26เมืองอัจฉริยะอาเซียน

สำหรับ 26 เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนประกอบด้วย 1.ย่างกุ้ง 2.เนปิดอว์ 3.มัณฑะเลย์ 4.ฮานอย 5.ดานัง6.โฮจิมิน 7.หลวงพระบาง 8.เวียงจันทน์ 9.เสียมราฐ 10.พระตะบอง 11.พนมเปญ 12.กรุงเทพ 13.ชลบุรี 14.ภูเก็ต 15.มะนิลา 16.เซบู 17.เดวู 18.กัวลาลัมเปอร์ 19.ยะโฮบารู 20.คูชิ่ง 21.จาการ์ต้า 22.มากัสซ่าร์ 23.บันยูวานจี 24. บันดาร์เสรีเบกาวัน 25.คิตานาบารู และ 26.สิงคโปร์

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ