บตท.ตั้งงบ9พันล.ซื้อ'สินเชื่อบ้าน'
บตท.เผยปีนี้มีแผนซื้อสินเชื่อบ้านเข้าพอร์ต 9 พันล้าน โดยจะซื้อจากผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์ครั้งแรก 4 พันล้านบาท เชื่อจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยถึง ปานกลางมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
นางสาววสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) กล่าวว่า ในปีนี้ บตท.มีเป้าหมายเข้าไปรับซื้อ สินเชื่อจากสถาบันการเงินและ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รวม 9 พันล้านบาท แบ่งเป็น การรับซื้อ สินเชื่อจากสถาบันการเงิน 5 พันล้านบาท และอีก 4 พันล้านบาทจะรับซื้อจาก ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของบตท.อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยพอร์ตสินเชื่อนั้น เป็นการรับซื้อจากสถาบันการเงินทั้งหมด ขณะที่เห็นโอกาสจากการรับซื้อพอร์ตสินเชื่อจากแหล่งอื่นในปีนี้ บตท.จึงได้วางแผนที่จะเข้าไปซื้อสินเชื่อจากผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์เป็นครั้งแรก โดยหนึ่งในผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีแผนจะเข้าไปเจรจา คือ การเคหะแห่งชาติ ตั้งเป้าเข้าไปรับซื้อสินเชื่อกว่า 3 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะรับซื้อจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ซึ่งเราก็ได้เจรจาผ่านสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด
"ปีที่แล้ว เราไม่ได้เข้าไปรับซื้อ สินเชื่อจากแหล่งใดๆเลย เพราะให้เวลากับการปรับปรุงโมเดลการทำธุรกิจ ฉะนั้นในปีนี้จึงจะเห็นอะไรที่แปลกใหม่ ซึ่งจะเริ่มจากการรับซื้อ สินเชื่อจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กฎหมายเอื้อให้เราสามารถซื้อสินเชื่อจากนอนแบงก์ เช่าซื้อ และ ลิสซิ่งได้ซึ่งก็เป็นระยะต่อไปที่เราจะพิจารณา" สำหรับความเสี่ยงในการรับซื้อ พอร์ตสินเชื่อจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้น ยอมรับว่าอาจมีความเสี่ยง แต่บตท.จะใช้วิธีตรวจสอบอย่างละเอียดผ่านการให้คะแนนจากประวัติการชำระสินเชื่อและเช็คจากระบบเครดิตบูโร ขณะเดียวกันได้ปรับเกณฑ์ในการรับซื้อพอร์ต สินเชื่อที่มีความรัดกุมมากขึ้น โดยรับซื้อสินเชื่อที่มีประวัติการชำระดี 1 ปีขึ้นไป และดูระดับหนี้ต่อรายได้ ที่แสดงถึงความสามารถในการ ชำระหนี้ประกอบด้วย "ในอดีตการรับซื้อพอร์ต สินเชื่อ จะไม่มีการกำหนดว่า ลูกหนี้ จะต้องมีประวัติการชำระหนี้ดีต่อเนื่อง เท่าไร ทำให้พอร์ตสินเชื่อเราเกิดปัญหาหนี้เสีย แต่นับจากนี้เรามีเกณฑ์ในการรับซื้อพอร์ตสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และ กำหนดตัวชี้วัดเป็นการภายในว่า เมื่อรับซื้อสินเชื่อมาแล้ว ภายใน 1 ปี จะต้องบริหารจัดการให้หนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 0.5% ของพอร์ต ปัจจุบันระดับหนี้เสียโดยรวมของพอร์ตอยู่ที่ประมาณ 7%"
ทั้งนี้ การเข้าไปรับซื้อพอร์ตสินเชื่อจากผู้ประกอบการ หรือ การเคหะแห่งชาติ ถือเป็นการช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีเม็ดเงินไปสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น โดยสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายจะไม่เกิน 2 ล้านบาท ขณะที่ สินเชื่อต่อรายที่รับซื้อพอร์ตจากสถาบันการเงินจะเฉลี่ยที่ 2 ล้านบาท