เอกชนชู 2 โมเดล หนุนเข้าถึงสินเชื่อบ้าน
Loading

เอกชนชู 2 โมเดล หนุนเข้าถึงสินเชื่อบ้าน

วันที่ : 12 กุมภาพันธ์ 2561
เอกชนชู 2 โมเดล หนุนเข้าถึงสินเชื่อบ้าน

จากการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย ค่อนข้างยาก จึงมีความพยายามที่จะหาช่องทางใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้ผู้บริโภค สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

วสันต์ เคียงศิริ อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงข้อจำกัดของธุรกิจลีสซิ่งที่จะเข้ามาแข่งขันปล่อยให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยว่าต้องมาพิจารณาเรื่องฐานเงินทุนด้วย เนื่องจากสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัยมีระยะเวลาที่นาน ต่างจากสินเชื่อรถยนต์ที่จบสั้น  ขณะเดียวกันด้วยบทบาทของสถาบันการเงินที่ต้องทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อก็ต้องหันมาแข่งขันเรื่องบ้านมากขึ้น เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่าสินเชื่อระยะสั้น

ธีรวัฒน์ พิพัฒน์ดิฐกุล อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า อยากเสนอให้มีการแก้ไขบทบาทหน้าที่ของ บตท.จากที่ทำธุรกรรมรับซื้อสินเชื่อจำนองที่เป็นสินค้าหลัก เพิ่มเป็นสินเชื่อเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงการเคหะแห่งชาติ (กคช.) หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ส่วนนี้ และสินเชื่อโอนสิทธิการเช่าระยะยาว ซึ่งการเพิ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ในกลุ่มลีสโฮลด์จะช่วยให้ตลาดเกิดการพัฒนาและเพิ่มโอกาสให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มของเช่าสามารถระดมทุนได้ เนื่องจากพบว่าสถาบันการเงินไม่นิยมปล่อยลูกค้าที่ซื้อโครงการเช่าซื้อมากนัก ต่างกับสินเชื่อซื้ออสังหาฯ

"ปัจจุบันพันธบัตรที่ บตท.ระดมทุนจะมีอายุไม่มากสูงสุด 10 ปี ซึ่งในแนวทางของตนคิดว่าหากสามารถออกพันธบัตรอายุ 15 ปีได้น่าจะเป็นผลดีต่อระบบ เนื่องจากที่ผ่านมา สถาบันการเงินไม่ให้น้ำหนักกับลูกค้าในกลุ่มลีสโฮลด์ เนื่องจากไม่คุ้ม ซึ่งจริงๆ กลุ่มนี้มีความสามารถในการผ่อนชำระ แต่หาก บตท.เข้ามาเสริมน่าจะทำให้โครงการลีสโฮลด์มีโอกาสเติบโต ขณะเดียวกันลีสโฮลด์ไม่จำกัดเรื่องอัตราเพดานการถือครองของชาวต่างชาติ ที่ 49% ดังนั้น การส่งเสริมให้ตลาดลีสโฮลด์ขยายตัว จะช่วยดึงดูดต่างประเทศเข้ามาในไทยมากยิ่งขึ้น" ธีรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ศักยภาพของไทยว่าเป็นภูมิประเทศที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาในไทย โดยคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าปริมาณนักท่องเที่ยวจะเข้ามาในไทยมากกว่าประชากรของไทย ซึ่งจะเห็นว่าการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในไทยจะเปลี่ยนไป โดยมีการร่วมทุน (JV) และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ส่งผลให้จังหวัดสำคัญมีการเติบโตทางด้านการลงทุนค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกันบรรดาผู้ประกอบการอสังหาฯ ยังมีแผนที่บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยสินเชื่อต่ำระยะยาวให้ลูกค้าซื้อบ้าน ปัจจุบันมีการเจรจาร่วมกันของบรรดาผู้ประกอบการ อสังหาฯ ไม่ต่ำกว่า 20 รายทั่วประเทศ และเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่จะเข้ามาเพื่อจะรวมตัวกันก่อตั้งเป็น บริษัทเพื่อปล่อยสินเชื่อระยะยาวอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ มอร์เกจ คัมปะนี แต่ในปัจจุบันการเจรจานั้นยังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากกว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขกฎระเบียบและในเบื้องต้นนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นจะเป็นเท่าไร แต่ที่แน่ๆ จะเป็นดอกเบี้ยต่ำระยะยาวนานถึง 10 ปี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงที่ระยะยาว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ