ดันแผนรถไฟฟ้าอุดรฯ สนข.เร่งจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนแม่บทขนส่งรับฮับการบินอีสาน
Loading

ดันแผนรถไฟฟ้าอุดรฯ สนข.เร่งจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนแม่บทขนส่งรับฮับการบินอีสาน

วันที่ : 6 กุมภาพันธ์ 2561
ดันแผนรถไฟฟ้าอุดรฯ สนข.เร่งจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนแม่บทขนส่งรับฮับการบินอีสาน

ดันแผนขนส่งอุดรฯ สนข.ทุ่มงบ 28 ล้าน จ้างที่ปรึกษาเร่งศึกษาแผนแม่บทการขนส่ง จ.อุดรธานี รับฮับการบินอีสาน 2 หมื่นล้าน

สนข.เร่งศึกษาแผนการ สร้างรถไฟฟ้ารับฮับการบินอีสานคาดลงทุน 2 หมื่นล้าน

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาแผนแม่บทการขนส่งใน จ.อุดรธานี คาดว่าจะได้ตัว ที่ปรึกษาภายในเดือน มี.ค.นี้ มีระยะเวลาการศึกษา 15 เดือน ใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท ส่วนด้านการออกแบบระบบขนส่งนั้น มีตัวเลือกที่หลากหลายเพื่อให้สอดรับกับความต้องการการเดินทางทั้งปัจจุบันและอนาคต ทั้งระบบขนส่งรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ระบบรถโดยสารสาธารณะ (มินิบัส) และรถรางเบาล้อยาง (บีอาร์ที) เป็นต้น

นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า จากสภาพ เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์บนเส้นทางการค้าและเส้นทางการขนส่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ทำให้ปัจจุบันต้องมาพิจารณาเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองและรอบเมือง จ.อุดรธานี รวมทั้งปัจจุบัน จ.อุดรธานี มีโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านการคมนาคม ทั้งทางถนนสายหลักที่อยู่ในเมืองไทยและข้ามไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังอยู่บนโครงข่ายแนวเส้นทางที่มีการสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในอนาคต

ขณะที่ทางด้านอากาศสนามบินอุดรธานียังอยู่ท่ามกลางการเดินทางที่มีประชาชนต้องการสูงมาก เพราะปัจจุบันสนามบินอุดรธานีมีทุกเที่ยวบินและบินเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้มีความพร้อมมาก ดังนั้นทำให้ สนข.ต้องศึกษาโครงการออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.อุดรธานี เพื่อเป็นทางเลือกที่มีคุณภาพให้กับประชาชนในการเดินทางทั้งในเมือง รอบเมือง และระหว่างเมืองในอนาคต

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มีแผนลงทุนพัฒนาสนามบินอุดรธานีเพื่อปั้นเป็นฮับการบินทางภาคอีสาน ซึ่งคาดว่าจะต้องลงทุนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างรันเวย์ขนาด 3,000 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างโบอิ้ง 747 หรือแอร์บัส 380 นอกจากนี้ยังต้องลงทุนงานติดตั้งระบบตรวจสอบสัมภาระและเอกซเรย์ที่ได้มาตรฐานจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม ซึ่งต้องใช้งบลงทุนพัฒนาอีกหลายหมื่นล้านบาท เพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) หรือเอียซ่า เพื่อสนับสนุนให้เที่ยวบินจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาสามารถบินตรงมาลงที่สนามบินอุดรธานีได้

ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่องจากสนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนบินต่อไปยัง จ.อุดรธานี คิดเป็นสัดส่วน 23% ของผู้โดยสาร และ จ.อุดรธานี ยังมีแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ตามโครงการ 3 เหลี่ยมมรดกโลก คือ หลวงพระบาง ฮาลองเบย์ บ้านเชียง ไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวด้วย

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ