เอกชนแห่พัฒนาโครงการรัฐ ลดเสี่ยงหลังคอนโดฯแข่งดุ
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพ เพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 61 ยังคงได้รับปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน ที่อาจทำให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เริ่มน้อยลง เพราะมีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ที่อยู่อาศัยต้องปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับวิถีชีวิตของคนสูงอายุ รวมทั้งการพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลกับการอยู่อาศัย
ขณะเดียวกันแนวโน้มการลงทุนที่อยู่อาศัยในอนาคต ผู้ประกอบการเริ่มหันมาพัฒนาโครงการสิทธิการเช่าระยะยาว บนพื้นที่ครอบครองโดยหน่วยงานรัฐบาล เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการเมกะโปรเจคท์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า และจะเห็นการพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการ ลดการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มร่วมทุนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ที่ให้ความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น และนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่ซื้อห้อง เพื่อลงทุนระยะยาวและปล่อยเช่า ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางนลินรัตน์ กล่าวว่า ในปี 61 บรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะเข้าไปพัฒนาคอนโดมิเนียมทุกระดับอยู่ในซอยเล็กเป็นตึก 7-8 ชั้นมากขึ้น เนื่องจากที่ดินริมถนนใหญ่หายาก และราคาคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ ยังปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาที่ดินที่สูงขึ้น จากปัจจุบันราคาเฉลี่ย 130,620 บาทต่อตารางเมตร ส่งผลให้ภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 8% แบ่งเป็น ระดับราคาคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ ชั้นใน คาดว่าปรับตัวขึ้นอีก 11% ส่วนตลาดรอบนอก ราคาจะปรับตัวขึ้นอีกประมาณ 5-6%
ขณะที่ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ ปี 60 ถือเป็นปีที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยมีการแข่งขันที่ดุเดือด เพราะมีการเสนอขายโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องกว่า 62,700 ยูนิต จาก 128 โครงการ ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนห้องชุดออกสู่ตลาดมากที่สุดในรอบ 10 ปี และมีห้องชุดเปิดตัวใหม่ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยห้องชุดที่เปิดตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 56-60 มีอัตราเฉลี่ย 53,600 หน่วยต่อปี สูงถึง 15%
สำหรับทำเลที่มีปริมาณความต้องการเสนอขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก ซึ่งเป็นตลาดคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวออกไปจากกลางเมือง คือ พระโขนง-สวนหลวง 14,400 หน่วย หรือคิดเป็น 23%, พญาไทรัชดาภิเษก 13,200 หน่วย หรือ 21% และในย่านธนบุรี-เพชรเกษม มีจำนวน 8,900 หน่วย หรือ 14%
"ภาพรวมปี 60 ยังคงเติบโตได้ดี ยอดขายใหม่ในตลาดอยู่ที่ 57,300 หน่วย สูงกว่าอัตราขายเฉลี่ยห้องชุดช่วง 5 ปี ที่มีอัตราขายเฉลี่ยห้องชุดในปี 55-59 มีอัตราเฉลี่ย 50,400 หน่วยต่อปี กว่า 14% และเมื่อพิจารณาถึงอัตราการขายรวมของคอนโดมิเนียมทั้งตลาด จะยังคงอยู่ที่ 90% โดยมียอดขายรวมของคอนโดมิเนียมสะสมเพิ่มเป็น 496,100 หน่วย ทำให้ปัจจุบันมีห้องชุดเหลือขายอยู่ในตลาดทั้งสิ้นประมาณ 53,900 หน่วย ส่วนทำเลพระโขน-สวนหลวง ยังคงยอดนิยม มีห้องชุดเปิดใหม่มากทุกปี และมีอัตราการขายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
นางนลินรัตน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับทำเลที่มีการปรับขึ้นของราคาคอนโดมิเนียมสูงสุด คือ ในเขตปทุมวัน และราชเทวี โดยราคาคอนโดมิเนียม ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 16% หรือ 234,000 บาทต่อตารางเมตร ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมกลางเมืองนั้น ราคาปรับตัวสูงขึ้นถึง 12% หรือ 210,700 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับ เขตยานนาวา และคลองสาน ที่มียอดขายดี ราคาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 12%