เอกชนยันอสังหาไม่ล้น ชี้ภาพรวมยังเติบโตบางทำเลอาจเสี่ยงให้แบงก์แยกแยะปล่อยกู้
Loading

เอกชนยันอสังหาไม่ล้น ชี้ภาพรวมยังเติบโตบางทำเลอาจเสี่ยงให้แบงก์แยกแยะปล่อยกู้

วันที่ : 7 ธันวาคม 2560
เอกชนยันอสังหาไม่ล้น ชี้ภาพรวมยังเติบโตบางทำเลอาจเสี่ยงให้แบงก์แยกแยะปล่อยกู้

    ผู้ประกอบการยันอสังหาฯ ภาพรวมยังดี อาจมีบางทำเลซัพพลายมาก แบงก์อย่าเหมาเข่งเข้มปล่อยกู้   นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกรุงเทพชะลอการปล่อยสินเชื่อโครงการให้กับผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม เนื่องจากเห็นความเสี่ยงว่าล้นตลาดนั้น ในความเป็นจริงไม่ใช่ทั้งหมดที่มีความเสี่ยง จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาเป็นรายทำเล หรือรายโครงการไป อย่าเหมารวมทั้งหมดแล้วไม่ปล่อยกู้

          "ธนาคารพาณิชย์อื่นยังปล่อยกู้ รวมไปถึงธนาคารรัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังไม่มีสถาบันการเงินใดส่งสัญญาณไม่ปล่อยสินเชื่อ เรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดของสถาบันการเงินที่ค่อนข้างระมัดระวังสูง" นายพรนริศ กล่าว

          ขณะเดียวกันวิธีการหาแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการไม่ได้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้ ร่วมทุน และร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างชาติเพื่อให้ได้แหล่งเงินทุน

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังดียอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้สูง อาจจะมีบางทำเลที่มีซัพพลายมาก เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือการพัฒนาคอนโดในต่างจังหวัด ซึ่งบางสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อโครงการอาจจะมองว่าเสี่ยง แต่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด

          ก่อนหน้านี้ นางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยืนยันว่า ในปี 2561 ธอส.ยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับคนซื้อบ้านที่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มราคาบ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่จะให้การสนับสนุนโดยจะมีการปรับเกณฑ์ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วย

          นายพิสิต จึงประดิษฐภัณฑ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์  ไอ วี โกลบอล ให้ความเห็นว่า แนวโน้มบริษัทอสังหาริมทรัพย์จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (แบ็คดอร์ลิสติ้ง) โดยซื้อกิจการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เนื่องจาก บจ.จะระดมทุนและกู้เงินได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า เร็วและมีต้นทุนต่ำกว่าการยื่นขอเป็น บจ. ด้วยการเข้าซื้อขายหุ้น ครั้งแรก (ไอพีโอ)

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์