แย่งขุมทองรถไฟฟ้า เบียร์ช้าง-LPN-อนันดา-QH ยึดหัวหาดแปลงงาม
Loading

แย่งขุมทองรถไฟฟ้า เบียร์ช้าง-LPN-อนันดา-QH ยึดหัวหาดแปลงงาม

วันที่ : 1 ตุลาคม 2560
แย่งขุมทองรถไฟฟ้า เบียร์ช้าง-LPN-อนันดา-QH ยึดหัวหาดแปลงงาม

คอนโดฯท่วม 2 แสนหน่วย ดันรถไฟฟ้าสีเขียวน้ำเงินยังแรงไม่ตกบิ๊กเนมชิงเหลี่ยมไล่ตุนที่ไม่ยั้ง ตะลึง! เจ้าสัวเจริญซุ่มกวาดผับ-ร้านอาหารดังตรงข้ามเมเจอร์รัชโยธิน 3 ไร่  รับเขียวเหนือ "หมอชิต-ลำลูกกา" ราคาตลาดสูงกว่าราคาประเมิน 10 เท่า

การขยับแผนสร้างรถไฟฟ้า 12 สาย  314 สถานี ของรัฐบาลจาก ปี 2572 เป็นปี 2568 เพื่อบรรเทาปัญหาความคับคั่งของจราจรในระยะยาวขณะเดียวกันยังเปิดหน้าดินรอบสถานีใหม่ๆ แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการยังให้ความสนใจโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมทั้งที่เปิดให้บริการ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากมีความชัดเจน แม้ราคาที่ดินจะสูง แต่มองว่า ชัวร์ ขณะที่โครงข่ายอื่นที่ยังนอนอยู่ในกระดาษแม้มีแผนตอกเข็มในอนาคต  แต่มองว่ามีความเสี่ยง ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนรัฐบาลหรือนโยบายเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผลเสียอาจเกิดขึ้นกับที่ดินที่ซื้อดักไว้

ทั้งนี้ดูได้จาก ตัวเลขเปิดตัวคอนโดมิเนียมปัจจุบันซึ่งบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)  จำกัด สำรวจพบว่า ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระหัวลำโพง-บางแค  ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีจำนวน 22,000 หน่วย รถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงินเอ็มอาร์ทีที่เปิดให้บริการปัจจุบัน มีจำนวน 71,940 หน่วย รถไฟฟ้าบีทีเอส มีปริมาณคอนโดฯเกิดขึ้น  77,000 หน่วย  ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่ ลำลูกกา)ที่มีการก่อสร้างแล้ว 40% มีจำนวน 12,000 หน่วย  สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวตอน (แบริ่งสมุทรปราการ)  15,000 หน่วย

นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหา ริมทรัพย์ไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ผู้ประกอบการยังให้ความสนใจ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และสีน้ำเงิน มองเห็นสถานีชัดเจน นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เนื่องจากทำเลลาดพร้าวมีศักยภาพ ส่วนสายสีม่วง แม้เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้วและมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ มองว่าซัพพลายยังเหลืออยู่มาก แต่หากจะพัฒนาต่อ ต้องรอให้ จำนวนหน่วยที่เหลือหมดก่อน

"ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่ลำลูกกา) พบว่า ยังมีความเคลื่อนไหวซื้อขายที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการต่อเนื่อง โดยนายหน้ารายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายนี้มีการก่อสร้างเกิดขึ้น ราคาที่ดินขยับสูงกว่าราคาประเมินของกรมธนารักษ์ 10 เท่า ทำให้เจ้าของที่ดิน-ตึกแถวเก่า ต่างบอกเลิกสัญญากับผู้เช่าเดิมเพื่อขายให้กับบริษัทพัฒนาที่ดิน อาทิ  ทำเลตรงข้ามตึกช้าง บริเวณแยกรัชโยธิน (พลโยธิน 27-29) เนื้อที่ 4 ไร่ ตึกแถวจำนวน  9 คูหา ปัจจุบัน มีผู้เช่าขายอุปกรณ์การเกษตร ทั้งที่ ผู้เช่าไม่ต้องการย้ายออกเนื่องจากทำเลดี แต่เมื่อเจ้าต้องการขายจึงจำเป็นต้องหาที่เช่าใหม่

นายหน้าเล่าต่อว่า ขณะนี้มีบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 3 ราย ต่อรองราคาเหลือ 500,000 บาทต่อตารางวา ขณะที่เจ้าของต้องการขายที่ 800,000 บาท ต่อตารางวา ขณะที่ทำเลฝั่งตรงข้ามเมเจอร์รัชโยธิน ซึ่งเป็นผับเจ้าของบอกเลิกสัญญาเช่นกันเพราะต้องการขายให้กับบริษัทของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในราคา 700,000 บาทต่อตารางวา แต่ต่อรองกันได้ที่ 600,000 บาทต่อตารางวา อย่างไรก็ดีทำเลย่านพหลโยธิน โซนเหนือยังมีที่ดินให้จับจองอีกมาก ส่วนใหญ่ในซอยจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าส่วนพหลโยธิน ฝั่งเข้าใจกลางเมือง ที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินแปลงเล็กและทุกวันนี้ค่อนข้างหายาก ซึ่งราคาที่ดินทำเลห้าแยกลาดพร้าวขณะนี้แตะไปที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวาเรียบร้อยแล้ว

สอดคล้องกับนายสุริยา สุริยาภิวัฒน์ ผู้จัดการสำนักวิจัย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าช่วง 6 ปีราคาที่ดินตารางวาละ 100,000 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาขยับขึ้น 6-10 เท่าในทำเลรัชโยธิน โดยทำเลห้าแยกลาดพร้าวราคาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา

ส่วนทำเลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วนใต้ (แบเริ่งสมุทรปราการ) ที่กำหนดเปิดให้บริการปลายปี 2561 นายธำรงปัญญาสกุลวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มนิรันดร์กรุ๊ป กล่าวว่า สมุทรปราการ เปลี่ยน จากตึกแถว ชุมชนเก่าเป็นคอนโดมิเนียม ไม่ต่างจาก ฝั่งอ่อนนุชบางนา กรุงเทพมหานคร เนื่องจากรถไฟฟ้าไปถึงพื้นที่ ทำให้เกิดการขยายตัวตาม โดยมีแบรนด์ ใหญ่ อย่าง ไอดีโอ ของ บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ฯ และยังมีโครงการของ ควอลิตี้เฮ้าส์ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เข้าไปปักธงครองตลาด ทำเลยอดฮิตอยู่ใกล้กับโรงเรียนนายเรือ ซอยสุขุม วิท 115 โดยเฉพาะค่ายอนันดา อยู่ระหว่างก่อสร้างคอนโดมิเนียมรองรับกลุ่มคนทำงานในกทม.และพื้นที่กว่า 1,000 หน่วย ประ เมินว่าการแข่งขันดุเดือดไม่แพ้ทำเลอื่น ขณะที่ราคาที่ดินขยับเร็ว หากที่ดินอยู่ห่างสถานีราคา 150,000 บาทต่อตารางวา  กรณีอยู่ติดสถานี ราคา 200,000 บาทต่อตารางวาเทียบจากก่อนที่รถไฟฟ้ามา ติดถนนสุขุมวิท ตารางวาละ 60,000-70,000 บาทก็หาซื้อได้

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ