ชี้คอนโดฯปล่อยเช่ารายวันพุ่ง อดีตนายกระบุผิดกม.รร.-ควบคุมอาคาร แนะเจ้าของห้องร้องเรียนเขตดำเนินคดี
อดีตนายกคอนโดฯเผยหัวเมืองท่องเที่ยวเริ่มปล่อยเช่ารายวันเพิ่ม จากซื้อเพื่อลงทุนให้เช่าเป็นรายเดือนมาเป็นเช่ารายวัน ระบุไม่เป็นธรรมกับเจ้าของที่ซื้ออยู่อาศัยเพราะใช้ทรัพยากรร่วม แถมผิดทั้ง กม.โรงแรมและ กม.อาคาร แนะผู้ได้รับความ เดือดร้อนร้องเขตได้เลย
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ ประธานกรรมการ ประธานกรรมการ บริษัท นิรันดร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกลุ่มนิรันดร์ ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการร้องเรียนของเจ้าของห้องชุดในคอนโดมิเนียมเกี่ยวกับการใช้ห้องชุดผิดวัตถุประสงค์นั้นมีค่อนข้างมาก เช่น เขตวัฒนาฝั่งสุขุมวิทฝั่งซ้ายนำห้องชุดในคอนโดมิเนียมประมาณ 20-30 ห้อง มาปล่อยเช่ารายวัน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อาคารผิดประเภท และหากจะนำคอนโดมิเนียมมาใช้ทำโรงแรมนั้นก็จะต้องขออนุญาตให้ชัดเจน และทางเข้าออกก็จะต้องมีความชัดเจน เข้าออกคนละส่วนและห้องพักจะต้องแยกเป็นสัดส่วนไม่ให้ปะปนกัน เพราะหากมีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกันกับเจ้าของห้องชุดก็จะไม่เป็นธรรม เพราะเจ้าของห้องชุดจะต้องใช้ค่าบำรุงรักษาให้กับนิติบุคคลอาคารชุด ขณะที่ผู้เช่าหรือนักท่องเที่ยวไม่ได้จ่าย
"หากนำห้องพักมาให้เช่าในลักษณะรายวันเหมือนกับโรงแรม ซึ่งนอกจากจะผิดวัตถุประสงค์การใช้อาคารแล้วยังผิด พ.ร.บ.โรงแรมด้วยซึ่งจะต้องมีโทษตามกฎหมาย" นายธำรงกล่าว
นายธำรงกล่าวว่า การที่นำเอาห้องชุดในคอนโดมิเนียมมาให้เช่ารายวันนั้นอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงและมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวเช่นหนังสือเดินทาง หรือบัตรประชาชนทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด หรือมีพวกมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามา ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยในห้องชุด แต่หากดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายโรงแรมนั้นก็จะสามารถตรวจสอบได้ เพราะจะต้องมีการลงทะเบียนจากหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชน เพื่อรายงานต่อไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ปัจจุบันมีปัญหาที่เจ้าของห้องชุดนำห้องชุดไปให้เช่าเป็นรายวันเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่คิดจะซื้อเพื่อการลงทุนคือการปล่อยเช่าเป็นรายเดือน แต่ก็หาลูกค้ายาก เพราะมี คอนโดฯเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้คนซื้อมากกว่าคนเช่าส่งผลให้ไม่มีผู้เช่า เจ้าของจึงหาทางออกด้วยการปล่อยเช่าเป็น รายวันแทน โดยบางครั้งอาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นคนดำเนินการให้ แล้วจ้างแม่บ้านของโครงการไปทำความสะอาด ซึ่งตรงนี้จะไม่เป็นธรรมกับเจ้าของห้องชุดที่อยู่เอง เพราะต้องมาแชร์สิ่งอำนวยความสะดวกกับคนอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของร่วม" นายธำรงกล่าว
นายธำรงกล่าวว่า สมาคมไม่มีอำนาจที่จะไปจัดการในเรื่องนี้ เพราะผู้ประกอบการจะดำเนินการตามให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารและ พ.ร.บ.อาคารชุดเท่านั้น ดังนั้น หากลูกบ้านอาคารชุดโครงการใดมีปัญหาในเรื่องนี้ก็อยากจะให้ไปร้องเรียนเขตและกรมการปกครอง เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวโดยตรงและหากพบผู้กระทำผิดก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะปล่อยให้ระบบโดยรวมเสียไป และที่สำคัญที่สุดคือการสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาอาชญากร มิจฉาชีพและยาเสพติดได้