ทำเลเลียบด่วนรามอินทราบูม บ้านหรู แห่ผุดโครงการ
Loading

ทำเลเลียบด่วนรามอินทราบูม บ้านหรู แห่ผุดโครงการ

วันที่ : 28 สิงหาคม 2560
ทำเลเลียบด่วนรามอินทราบูม บ้านหรู แห่ผุดโครงการ

โซน "เลียบทางด่วนรามอินทรา" นับเป็นตลาดศักยภาพของโครงการที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แห่ลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยเฉพาะบ้านหรูเจาะกลุ่มไฮเอนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่ยอดรีเจคต่ำ

เกตุชัย นรเชษฐวุฒิวัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพรเวท เนอวานา จำกัด กล่าวว่า ทำเลโซนเลียบด่วนรามอินทราเป็นตลาดที่มีความคึกคักต่อเนื่อง มีโครงการใหม่ของผู้เล่นหลายราย เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, เอพี  และสิงห์ เอสเตท ที่เข้ามาเปิดตัวโครงการใหม่

โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับราคา 50-60 ล้านบาท จนถึงระดับราคา 200-250 ล้านบาท ทำเลนี้ยังมี "ดีมานด์" ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่สามารถปิดการขายได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปี

"ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ดินบริเวณเลียบด่วนรามอินทรา ราคาปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากตั้งแต่ 2 หมื่นบาทต่อตารางวาเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นบาทต่อตารางวาหรือเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นปีละ 20%"

สำหรับ ไพรเวท เนอวานา วางแผน พัฒนา 2-3 โครงการต่อปี  ซึ่งบริษัทยังคงสนใจพัฒนาโครงการในทำเลเลียบด่วนรามอินทราเป็นหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญจากฐานข้อมูลและกลุ่มลูกค้าที่พบว่าต้องการที่อยู่อาศัยในทำเลนี้อยู่มาก อย่างไรก็ดี  ปีนี้จะทยอยขายสินค้าในสต็อกที่มีอยู่ก่อนที่จะพัฒนาโครงการใหม่

เกตุชัย กล่าวต่อถึงแผนควบรวมกิจการหรือผนึกพันธมิตรธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนและสร้างการเติบโตของบริษัทว่า มีการเจรจากับพันธมิตรอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย

"พันธมิตรรายใหญ่มีความสนใจ ไพรเวท เนอวานา ตรงที่มีฐานลูกค้ากลุ่มบ้านระดับกลาง-สูงในมืออยู่มาก มีทีมงานที่ช่วยดูเรื่องรายละเอียดการพัฒนาโครงการตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเทรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ ผู้เล่นรายใหญ่มีความร่วมมือหรือร่วมทุนกับรายย่อยมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กลยุทธ์การทำตลาด และฐานลูกค้าระหว่างกัน"

ส่วนภาพรวมยอดรีเจคในโครงการของไพรเวท เนอวานา พบว่าในกลุ่มบ้านหรูระดับราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป ไม่มีปัญหาเรื่องรีเจค ส่วนกลุ่มบ้านระดับราคา 4-5 ล้านบาท ยอดรีเจคต่ำมาก  ซึ่งบริษัทกำหนดวางเงินดาวน์ 10% ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษ  ค่อนข้างน่ากังวลสำหรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย เพราะใช้ระยะเวลาการพิจารณาค่อนข้างนาน 4 สัปดาห์ จากเดิม 2 สัปดาห์ หากระยะเวลาพิจารณาเร็วขึ้น ดำเนินการเร็ว จะทำให้ผู้ประกอบการรับรู้รายได้เร็ว โอนกรรมสิทธิ์ได้เร็วขึ้น

"สถานการณ์จากนี้มองว่าถ้าหากเศรษฐกิจดีขึ้น อาจส่งผลต่อความผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร"

สำหรับภาพรวมยอดขายในช่วง 7 เดือนแรก เติบโตไม่หวือหวา อยู่ในอัตราใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นพัฒนาโครงการแนวราบมากกว่าคอนโดมิเนียม เพราะมองว่ากลุ่มลูกค้าโครงการคอนโดมิเนียมในตลาดยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง  มีผลต่อการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคาร

อย่างไรก็ดี แนวทางดำเนินงานของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะรายย่อยที่ต้องเผชิญปัจจัยลบทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว และการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดที่มีผู้เล่นรายใหญ่มีโครงการในมือจำนวนมาก "มีอำนาจต่อรองกับธนาคารสูงกว่า"

ดังนั้นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ เริ่มจากพื้นฐานที่กลับไปเข้าใจและรู้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตอบโจทย์ ขณะที่การบริหารจัดการลูกค้า ต้องมีระบบ "รีเช็ค"

ตลอดเวลา ทั้งก่อนขาย หรือพรีแอพพรูฟ ระหว่างขาย รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

ไพรเวท เนอวานาวางแผนพัฒนา2-3โครงการต่อปี ซึ่งบริษัทยังคงสนใจพัฒนาโครงการในทำเลเลียบด่วนรามอินทราเป็นหลัก

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ