อสังหาเหวอแรงงานต่างด้าวหาย1ล.คน จี้นำเข้าGtoGหวั่นโบรกเกอร์ปท.ต้นทางฟันหัวคิว
Loading

อสังหาเหวอแรงงานต่างด้าวหาย1ล.คน จี้นำเข้าGtoGหวั่นโบรกเกอร์ปท.ต้นทางฟันหัวคิว

วันที่ : 14 สิงหาคม 2560
อสังหาเหวอแรงงานต่างด้าวหาย1ล.คน จี้นำเข้าGtoGหวั่นโบรกเกอร์ปท.ต้นทางฟันหัวคิว

        อสังหาฯมึนแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแค่ 7.72 แสนคน ประเมินยังอยู่นอกระบบ 1 ล้านคน หวั่นเกิดปัญหาใหม่ "แรงงานขาดแคลน-ค่าใช้จ่ายพุ่ง" จี้รัฐบาล คสช.เจรจานำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ป้องกันปัญหานายหน้าจากประเทศต้นทางฟันหัวคิวนำเข้า แนะดีเวลอปเปอร์เคลียร์ไซต์ก่อสร้างรับมือแต่เนิ่น ๆ มีเวลาเหลือแค่ 3-4 เดือนก่อน พ.ร.ก.ใหม่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายเปิดให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายระหว่าง 24

กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สรุปยอดรวมมี 7.72 แสนคน น้อยกว่าการคาดการณ์ของกระทรวงแรงงานที่คาดว่าจะมี 8 แสน-1 ล้านคน ในขณะที่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่ามีแรงงานต่างด้าวนอกระบบตกค้างไม่ได้มาขึ้นทะเบียน 1 ล้านคน ทำให้มีประเด็นต่อเนื่องในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต

 

          พฤกษาฯ ทดรองจ่าย 140 ล้าน

 

          นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทมีไซต์ก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 150-160 ไซต์ แต่ละปีมีความต้องการใช้แรงงานก่อสร้าง 30,000 คน ส่วนใหญ่พึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลักเช่นเดียวกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป

 

          ล่าสุด พฤกษาฯ มีการสำรองค่าใช้จ่ายวงเงิน 140 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมาช่วงที่มีการแจ้งแรงงานต่างด้าว เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องต่อไป จากนั้นจึงทยอยหักเงินคืนในภายหลัง

 

          "โครงการแนวราบเราใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป ทำให้ลดการใช้แรงงานก่อสร้างได้ 50% อย่างไรก็ตาม แนวสูงหรือคอนโดฯ ยังใช้แรงงานตามปกติ ปัจจุบันยังมีปัญหาการใช้แรงงานข้ามเขตประมาณ 10% ซึ่งต้องบริหารจัดการกันต่อไป"

 

          หวั่นขาดคนงาน-เลื่อนส่งมอบ

 

          นายอธิป พีชานนท์ กรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องมีเพียง 7 แสนกว่าคน แสดงให้เห็นว่ามีบางจำนวนที่ตกค้างไม่ได้มาจดทะเบียน สุดท้ายจะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เท่ากับระบบวงจรอุบาทว์ก็อาจไม่หมดไป อาจเพราะมองว่าการทำครั้งนี้ถือใบอนุญาตได้แค่ 2 ปี ต้องไปเริ่มต้นใหม่และอาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

 

          ล่าสุด ภาคอสังหาฯ มีการนำเสนอแนวทางต่อรัฐบาลในเรื่องการกำหนดจุดเคลื่อนย้ายแรงงาน 4 จุด แต่ยังมีข้อวิตกเพราะเหมือนต้องไปเก็งข้อสอบ สิ่งที่อยากนำเสนอคือ การใช้แรงงานข้ามเขต ขอให้กำหนดจุดให้ครอบคลุมเป็นระดับเขต เช่น 1 จังหวัด ถือเป็น 1 เขต เพราะสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น การก่อสร้างคอนโดฯ ในย่านไพรมแอเรียแต่ที่พักคนงานจำเป็นต้องอยู่รอบนอก เพราะไม่สามารถหาที่พักในเขตเดียวกันได้ เป็นต้น

 

          "ปัญหาแรงงานต่างด้าวมีความซับซ้อนหลายขยัก คนที่ไปดีเบตร่วมกับเราส่วนใหญ่เป็นโรงงาน ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมในเรื่องแรงงานข้ามเขต โรงงานจะมีอารมณ์ร่วมเฉพาะด้านการจดทะเบียน ในขณะที่แรงงานประมง เกษตร มีปัญหาเดียวกับแรงงานก่อสร้าง ปัญหาที่จะกระทบต่อผู้บริโภคคือ การส่งมอบโครงการจะล่าช้าออกไป ไซต์ก่อสร้างอสังหาฯ ส่วนใหญ่มีแรงงานต่างด้าว ถ้าโดนตรวจไซต์หมดเวลาครึ่งวัน บางครั้งจับตัวไปโรงพักต้องไปประกันตัวออกมาใหม่ สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ ทำให้ถูกต้อง แต่ว่าต้องยุติธรรม เพียงแต่ประเทศต้นทางไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้หมด บางส่วนเป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้แรงงานต่างด้าวกลับคืนมาไม่หมด"

 

          ต่างด้าวไม่เข้าระบบ 1 ล้านคน

 

          ในด้านค่าใช้จ่ายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าฯ แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไม่แพง ตกหัวละ 4-5 พันบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่เข้าระบบเหลือตกค้างอีกประมาณ 1 ล้านคน แนวโน้มหลังหมดระยะเวลาผ่อนผัน 1 มกราคม 2561 ปัญหาค่าใช้จ่ายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะกลับมาอยู่ที่หัวละ 1.9-2 หมื่นบาท

 

          เรื่องเดียวกันนี้ นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลจากการจดทะเบียนให้ถูกต้องน้อยกว่าที่คาดการณ์ ทำให้แนวโน้มหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ อาจเกิดการขาดแคลนแรงงานได้ ดังนั้น ในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือในปีนี้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจำเป็นต้องมีการปรับตัวรองรับไว้แต่เนิ่น ๆ

 

          จี้รัฐทำ G to G แก้หัวคิวแพง

 

          นายอิสระกล่าวว่า แนวทางรับมือของผู้ประกอบการ ถ้าหากแรงงานต่างด้าวยังผิดกฎหมายจำนวนมากเช่นนี้ ในอนาคตเมื่อกฎหมายใหม่บังคับใช้และมีบทลงโทษรุนแรงทั้งจำคุกและค่าปรับแพง ทำให้นายจ้างไทยไม่สามารถใช้แรงงานต่างด้าวรายเดิมได้ ยังมีทางเลือกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวรายใหม่เลย หรือที่เรียกว่าทำ MOU โดยเป็นการนำเข้าผ่านบริษัทนายหน้าหรือโบรกเกอร์ ปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายฝั่งโบรกเกอร์ของประเทศต้นทาง

 

          "วันนี้โบรกเกอร์ทำข้อเสนอมาให้ดู แรงงานเมียนมามีค่าใช่จ่ายหัวละ 9 พัน-1 หมื่นบาทสำหรับคนใหม่ ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวคนเดิมที่ต้องกลับประเทศไปทำทะเบียนให้ถูกต้องตกหัวละ 14,500 บาท แรงงานลาวและกัมพูชาตกหัวละ 2-2.1 หมื่นบาทสำหรับคนใหม่  แต่ถ้าต้องการคนเดิมค่าใช้จ่ายตกหัวละ 2.5-3 หมื่นบาท ข้อแตกต่างคือ ถ้าเป็นคนเก่าเรารู้ฝีมือ ใช้งานได้เลย แต่การนำเข้าแรงงานคนใหม่ มาทดแทนมีความเสี่ยงว่าทำงานให้ได้หรือไม่"

 

          จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายอิสระกล่าวว่า ได้เสนอรัฐบาลให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของผู้ประกอบการหรือนายจ้าง และในส่วนของลูกจ้างหรือตัวแรงงานเอง เพราะการนำเข้ารัฐต่อรัฐมีค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย เช่น ค่าธรรมเนียมทำพาสปอร์ต ฯลฯ โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายนอกระบบแต่อย่างใด

 

          รีวิวอาชีพสงวน 39 รายการ

 

          ประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือยังรวมถึงการปลดล็อกอาชีพสงวน 39 อาชีพห้ามคนต่างชาติทำ นายอิสระอธิบายว่า สภาพปัญหามาจากแรงงานไทยไม่ทำงานหลายอย่าง อาทิ กรรมกร ช่างปูน ฯลฯ จึงเป็นช่องว่างที่ต้องหันไปพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกัน แรงงานต่างด้าวมีการพัฒนาทักษะฝีมือจนกระทั่งทุกวันนี้สามารถทำงานช่างได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่างปูกระเบื้อง ช่างทาสี ฯลฯ

 

          ดังนั้น จึงมีข้อเสนอจากภาคธุรกิจอสังหาฯ ขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนกฎหมายใหม่ เพื่อเปิดทางให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแท้จริงในปัจจุบัน

 

          "อาชีพสงวน 39 อาชีพ ระบุชัดเจนว่า แรงงานต่างด้าวนำเข้ามาทำงานได้เพียง 2 อย่าง คือ กรรมกร กับแม่บ้าน หมายความว่าเย็บเสื้อผ้าในโรงงาน เก็บผลไม้ในไร่สวนเป็นแรงงานเกษตร ก็ต้องผิดหมด แต่ปัญหาคืออยากจ้างแรงงานไทย คนไทยก็ไม่ทำอาชีพเหล่านี้แล้ว" นายอิสระกล่าว

 

          ชี้อสังหาฯ ไม่กล้าขึ้นราคา

 

          ดร.อรรชภา อรรถบูรณ์วงศ์ อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปกติต้นทุนแรงงานก่อสร้างต่อโครงการเฉลี่ยประมาณ 8% เนื่องจากต้นทุนแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่เคยหยุดนิ่ง ข้อกังวลคือ จะทำให้มีผลกระทบต่อ ผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

          ในขณะที่ข้อคิดเห็นของนายอิสระมองว่า ถึงแม้อาจมีภาวะขาดแคลนแรงงานก่อสร้างแต่ยังมั่นใจว่าไม่มีผล กระทบต่อราคาอสังหาฯ เนื่องจากสินค้าบ้านและคอนโดฯ ในปัจจุบันถูกควบคุมโดยกลไกตลาด หากผู้ประกอบการรายใดขึ้นราคาโดยใช้เหตุผลจากต้นทุนค่าแรงงานอาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขันที่บริหารต้นทุนได้ดีกว่า เพราะยุคนี้มีการนำเทคโนโลยีก่อสร้างสำเร็จรูปมาใช้บริหารต้นทุนอยู่แล้ว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ