อสังหาฯคุมเข้ม ลูกค้า แบงก์ชี้หนี้สูง รีเจค พุ่ง
Loading

อสังหาฯคุมเข้ม ลูกค้า แบงก์ชี้หนี้สูง รีเจค พุ่ง

วันที่ : 15 สิงหาคม 2560
อสังหาฯคุมเข้ม ลูกค้า แบงก์ชี้หนี้สูง รีเจค พุ่ง
"อสังหาฯคุมเข้ม

            ธุรกิจอสังหาฯ งัดกลยุทธ์เข้มดูแลลูกค้า ตั้งทีมจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพ การเงินก่อนยื่นขอสินเชื่อ หวังลดยอดรีเจค "เอพี-ออริจิ้น-เสนา-เอสซี"แจงตัวเลขต่ำกว่าตลาด แบงก์พาณิชย์รับยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านยังสูง 50% ระบุลูกค้าภาระหนี้สูง-รายได้ไม่พอผ่อน

 

          สถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะหนี้ครัวเรือน ปีนี้ ที่ส่งผลต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มที่อยู่อาศัย ยังคงทรงตัวในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวัง การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารในช่วง ที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราสูงถึง 50%

 

          บรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ แต่ละราย ต่างปรับกลยุทธ์การดำเนินงานคัดกรองลูกค้า (พรีแอพพรูฟ) อย่างเข้มงวด เพื่อลดยอด ปฏิเสธสินเชื่อธนาคาร (รีเจค) ที่จะมีผลต่อ ยอดขายและยอดโอนโครงการ รวมทั้งการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมยอดปฏิเสธสินเชื่อลูกค้าคอนโดมิเนียมในเครือเอพี ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 12-13% ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากพรีแอพพรูฟตั้งแต่ก่อนโอน โดยได้เชิญ ธนาคารเข้ามาเจรจากับลูกค้า 5-6 แห่ง หากพบปัญหาจะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เนื่องจากข้อเสนอและนโยบายการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคารต่างกัน

"อสังหาฯคุมเข้ม

 

          นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนส่งฐานข้อมูลลูกค้า ให้ธนาคารพิจารณาก่อน ซึ่งจะช่วยคัดกรองความสามารถการซื้อที่อยู่อาศัย หากรายใดมีปัญหาธนาคารจะช่วยดูทางเลือกหรือข้อเสนอว่าจะช่วยเหลือด้วยวิธีใดได้บ้าง หรือหากธนาคารช่วยเหลือลูกค้าไม่ได้ ทีมงานจะมองหาหรือส่งต่อธนาคารอื่นๆ ที่สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ต่อไป

 

          "วิธีการช่วยเหลือลูกค้าในลักษณะนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แบบวินวิน ทุกฝ่าย เราช่วยลูกค้า ลูกค้าได้ซื้อบ้าน และเราก็ขายได้ ธนาคารก็ได้ปล่อยสินเชื่อ"

 

          ปัจจุบันเอพีฯกำหนดวางเงินดาวน์ ซื้อโครงการเฉลี่ย 12-15% เป็นอัตรา ใกล้เคียงรายอื่นๆในตลาด

 

          ทั้งนี้ ประเมินว่าสถานการณ์ยอดปฏิเสธสินเชื่อธนาคารครึ่งปีหลังโดยภาพรวมจะทรงตัวไม่ถึงขั้นดีขึ้น แต่ก็ไม่แย่ไปกว่าเดิม ส่วนในปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อฟื้นตัว

 

          'เสนา'เช็คการแผนการเงินลูกค้าถี่

 

          นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปัจจุบันอัตรารีเจคอสังหาฯ มักอยู่ในกลุ่มตลาดล่าง ราคาที่อยู่อาศัย 4-5 หมื่นบาทต่อตร.ม. หรือยูนิตละ 1 ล้านบาทต้นๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเริ่มต้นทำงาน 1-2 ปีแรก ที่ตัดสินใจ ซื้อคอนโด ซึ่งระยะเวลาผ่อนดาวน์ 2 ปี ยังมีอัตราผ่อนชำระไม่สูงก่อนที่จะเพิ่มขึ้น เมื่อโอนกรรมสิทธิ์

 

          จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตพบว่า กลุ่มนี้มีการก่อหนี้ จากการซื้อสินค้าอื่นๆ  ที่มักได้รับข้อเสนอผ่อน 0% เพิ่มขึ้น ระหว่างช่วงเวลาที่ผ่อนดาวน์คอนโด ดังนั้นเมื่อถึงเวลาขอสินเชื่อธนาคารกลุ่มตลาดล่างจึงมักถูกปฏิเสธสินเชื่อ

 

          แนวทางการแก้ไขปัญหาลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อของเสนา จึงมีขั้นตอน"พรี แอพพรูฟ" ตั้งแต่จองซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดอย่างละเอียด จากนั้นระหว่างการผ่อนดาวน์ช่วงเวลา 24 เดือน จะมีทีมงานดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยจัดโปรแกรม"ไฟแนนเชียล เดย์" ล่วงหน้าตั้งแต่ 9 เดือน, 6 เดือน และ 3 เดือน ก่อนลูกค้ายื่นเรื่องกู้สินเชื่อบ้านจากธนาคาร

 

          "การจัดไฟแนนเชียล เดย์เป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินของลูกค้า หากเห็นว่ายังมีหนี้อื่นๆ ที่ต้องผ่อนชำระ และเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร ทีมงานจะให้คำปรึกษาปลดหนี้อื่นๆ ล่วงหน้า"

 

          นอกจากนี้หากเห็นว่าภาระการผ่อนหลังโอนกรรมสิทธิ์ อาจเกินความสามารถ ลูกค้า จะแนะนำให้เปลี่ยนขนาดห้องเล็กลง เพื่อลดภาระการผ่อนรายเดือน รวมทั้ง การเตรียมหาผู้กู้ร่วมเพื่อให้ผ่านการพิจารณาขอสินเชื่อ จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมียอดรีเจคราว 13-14% ลดลงจากปีก่อนที่ 15%

 

          'ออริจิ้น'โชว์รีเจคต่ำ8-10%

 

          นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าภาพรวมยอดรีเจค โครงการครึ่งปีแรกยังอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 8-10% เมื่อเทียบกับตลาดรวมอยู่ที่ 20-30% ทั้งนี้ มาจากการวางแผนพัฒนาคอนโดในทำเลใหม่ๆ เจาะลูกค้าคนรุ่นใหม่ ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริง(เรียล ดีมานด์)

 

          โครงการคอนโดของบริษัทมีราคา ขายเริ่มต้นยูนิตละ 1-2 ล้านบาท สูงสุดอยู่ที่ 6-7 ล้านบาท โดยกำหนดเงินดาวน์ไว้ที่ 12% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ต่ำมากนักเมื่อเทียบกับรายอื่นๆ ปัจจุบันมีทีมงานคัดกรองลูกค้าและให้คำปรึกษาการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อธนาคาร

 

          "มองว่าสถานการณ์การปฏิเสธสินเชื่อในตลาดได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากนี้คาดว่าปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับความมั่นใจและกำลังซื้อผู้บริโภค"

 

          ปัจจุบันผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อแต่ลังเลและกังวลที่จะซื้อที่อยู่อาศัย เพราะไม่มั่นใจสภาพเศรษฐกิจ ส่วนการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเป็นสถานการณ์ปกติที่ควบคุมแบบนี้มาตั้งแต่ปีก่อน

 

          'เพอร์เฟค'เข้มพรีแอพพรูฟ

 

          นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ายอดปฏิเสธ สินเชื่อของบริษัทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25% ในกลุ่มคอนโด ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท รวมถึง ทาวน์เฮาส์ ส่วนบ้าน ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 5-6% ถือเป็นตัวเลขใกล้เคียงปีก่อน ที่มองว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบภาพรวมตลาดอสังหาฯ ที่อัตรา 30-50%

 

          บริษัทจะรักษายอดปฏิเสธสินเชื่อ ไม่ให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ด้วยวิธีการ พรีแอพพรูฟและให้คำแนะนำลูกค้า เช่น การลดหนี้บัตรเครดิต การยื่นกู้ร่วมกับคนในครอบครัว มองว่าหากดีเวลลอปเปอร์ไม่ช่วยคัดกรองหรือช่วยเหลือให้คำแนะนาลูกค้าก่อนยื่นกู้ ก็มีโอกาสที่ยอดปฏิเสธ สินเชื่อจะพุ่งขึ้นไปถึง 50% จากจำนวนลูกค้าที่โครงการนั้นๆยื่นกู้

 

          นอกจากนี้ยังกำหนดวางเงินดาวน์อยู่ที่ 20% ซึ่งเป็นอัตราปกติ จากราคาบ้านตั้งแต่ 15-75 ล้านบาท

 

          "แนวทางการปรับลดยอดปฏิเสธสินเชื่อ ที่ผ่านมาซึ่งมักอยู่ตลาดล่าง จึงปรับตัวด้วยแผนพัฒนาโครงการเจาะตลาดกลางและบนมากขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนกลุ่มนี้ 70%"

 

          เอสซีฯแจงยอดรีเจคเฉลี่ย10%

 

          นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทโดยเฉพาะ แนวราบช่วงครึ่งปีแรกใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 10% ส่วนกลุ่มบ้าน ราคา 3-5ล้านบาท อยู่ที่ 13-14% ถือว่ายังไม่สูงเมื่อเทียบยอดรีเจคในตลาดที่อยู่ที่ราว 30% ขึ้นไป  ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อคัดกรองลูกค้า และใช้โมเดลสร้างบ้านเสร็จก่อนขายช่วยให้แบกรับความเสี่ยงต่ำ รวมถึงเน้นพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องยอดโอนกรรมสิทธิ์ได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับโครงการคอนโด แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงไตรมาสแรกลดลงเหลือ 78.6% แต่พบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวต่ำสวนทางกับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 3.23% ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ  "ค่อนข้างกังวลว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อช่วงครึ่งปีหลัง อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก และยังเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตตลาดอสังหาฯปีนี้"

 

          แบงก์ชี้ลูกค้าหนี้สูง-รีเจคพุ่ง50%

 

          นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปัจจุบันอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของกลุ่มสินเชื่อบ้านยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50% ส่วนใหญ่ลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน เป็นผลมาจากรายได้ไม่พอผ่อนชำระ และภาระหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งธนาคารเองก็ต้องระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการเร่งส่งเสริมให้เป็นหนี้ก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะทำให้มีภาระไม่สามารถผ่อนชำระได้

 

          "ปัจจัยหลักในการอนุมัติก็คือเรื่อง รายได้ และภาระหนี้ที่มีอยู่"

 

          สำหรับเป้าหมายสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ช่วงครึ่งปีแรกปล่อยไปแล้ว 6,000-7,000 ล้านบาท ทางด้านคุณภาพหนี้ของสินเชื่อบ้านถือว่าอยู่ในระดับต่ำ มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 2% ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่มีเอ็นพีแอลต่ำมาก แต่ละปีไม่เกิน 0.6%

 

          ออมสินชี้ยอดปฏิเสธ30%

 

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่าธนาคารไม่ได้ เพิ่มเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด โดยยังคงหลักเกณฑ์เดิมที่สามารถดูแลเรื่องความเสี่ยงของธนาคารได้ ขณะเดียวกันการพิจารณาสินเชื่อก็มีความคล่องตัวและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทุนในการจัดหาที่อยู่อาศัย

 

          อย่างไรก็ตามในแง่ยอดการปฏิเสธ สินเชื่อบ้านนั้น อยู่ในระดับ 30% ของยอดที่ยื่นกู้ ซึ่งถือเป็นยอดที่ใกล้เคียงกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

          "ยอดปฏิเสธสินเชื่อในแต่ละเดือนนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 30% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เท่าที่ประเมินจากระบบธนาคารพาณิชย์เอกชนนั้น ถือว่าเรามียอดปฏิเสธที่ต่ำกว่า โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เอกชนคาดอยู่ที่ประมาณ 30-40%"

 

          อย่างไรก็ตาม ในแง่ฐานลูกค้าของธนาคารนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย มียอดยื่นขอกู้เฉลี่ย 1.5 ล้านบาทต่อราย ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์เอกชนจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท

 

          ส่วนยอดสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยผู้กู้ซื้อบ้านของธนาคารในขณะนี้ อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อบ้าน 3.4 แสนล้านบาท โดยยอดสินเชื่อใหม่ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40%ของเป้าหมายสินเชื่อทั้งปีที่ 7 หมื่นล้านบาท

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ