เปิดแผน เอสอีซี สงขลา-สตูล ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใต้
Loading

เปิดแผน เอสอีซี สงขลา-สตูล ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใต้

วันที่ : 12 มิถุนายน 2560
เปิดแผน เอสอีซี สงขลา-สตูล ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใต้

เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สงขลา โดยมีโอกาสไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งกลุ่มคณะทำงานเดินหน้าสงขลา 4.0 ได้เสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor:SEC)

 

นายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับโครงการ ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทและเสนอแผนในระดับกลุ่มจังหวัด จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษารายละเอียด เพิ่มเติม และเตรียมผลักดันให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

 

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่านายกฯให้ความสนใจมากและต้องการเห็นโครงการการพัฒนาที่เสนอจากพื้นที่ และกลุ่มจังหวัด สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ในอนาคตที่ท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาท ในการพัฒนามากขึ้น

 

"เอสอีซี" ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลาและ จ.สตูล ซึ่งเป็น 2 จังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยใช้แนวคิดพื้นที่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เกษตร ท่องเที่ยว ฮาลาล การค้า โลจิสติกส์ เชื่อมโยง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นประตูเศรษฐกิจภาคใต้สู่อาเซียน

 

วัตถุประสงค์ของเอสอีซี คือการ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคใต้ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เร่งรัด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงกฎระเบียบ พัฒนาบุคลากร และส่งเสริมการลงทุนที่มี ความจำเป็น นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ในการยกระดับผู้ประกอบการ คุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนใน ภาคใต้ รวมทั้งนำเสนอแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

 

สำหรับ กรอบระยะเวลาในการขับเคลื่อน โครงการ เอสอีซี ในระหว่างปี 2560 - 2565 และตั้งเป้าหมายว่าเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมในปี 2565 จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี เพิ่มการจ้างงาน 4 หมื่นคนต่อปี และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 4 ล้านคนต่อปี รวมทั้งช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและภาคใต้ ช่วยแก้ปัญหาการ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้และ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้ดีขึ้น

 

ข้อเสนอของคณะทำงานฯคือให้ รัฐบาลจัดทำร่างพ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ... เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2560 โดยเสนอให้และจัดทำร่างแผนพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 2561 - 2655 เพื่อเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาโครงการ

 

แผนงานหลักประกอบไปด้วย การพัฒนา อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และท่าเรือสงขลา พัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่าง สงขลา - สตูล พัฒนาเมืองระบบสาธารณูปโภค ท่องเที่ยวและระบบสาธารณสุข รวมทั้งเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และให้มีคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการอีก 8 กระทรวง และดึงเอาเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ ตัวแทน ภาคเอกชนภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม มาร่วมกันเป็นกรรมการ แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้แบ่ง ออกเป็น 4 ด้าน

 

1.อุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเน้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้เทคโนโลยีสูง การพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ และวางแผนการจัดการอุตสาหกรรม การเร่งรัดการสัมปทานท่าเรือสงขลา และการสร้างมาตรฐานสินค้าบริการฮาลาลของจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้สามารถส่งออกไปทั่วโลก

 

2. โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและ โลจิสติกส์ แบ่งเป็นโครงการทางถนน เร่งรัด การสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหาดใหญ่ - สะเดา การปรับปรุงถนนหาดใหญ่ - สตูล ให้สะดวกและปลอดภัย โครงการทางราง เสนอให้มีการสร้างศูนย์ขนถ่ายสินค้า (ICD) บริเวณสถานีรถไฟบางกล่ำ สร้างรถไฟทางคู่รถไฟฟ้าหาดใหญ่ - ปาดงเบซาร์ รวมทั้งเจรจาเรื่องการเปิดจุดผ่านแดนใหม่ ระหว่างด่านสะเดาและด่านบูกิตกายูฮิตัม ประเทศมาเลเซีย

 

3.การพัฒนาในด้านสาธารณูปโภคและการพัฒนาเมือง โดยเสนอให้มีการสร้างศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตภาคใต้ เพื่อความมั่นคงในการสื่อสาร การพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองสำคัญของจังหวัดในพื้นที่ เช่น การพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ การยกระดับ 4 อำเภอจตุรพัฒน์ใน จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย ให้เป็นเมืองความมั่นคงสูงเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว

 

4. การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบเดียวกับ"อีอีซี" ขณะที่แผนในระยะถัดไปให้ความสำคัญ กับการผลักดันให้ "เอสอีซี" เป็นประตูเศรษฐกิจ ของอาเซียน และศูนย์กลางเศรษฐกิจ ของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซียมาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) โดยใช้จุดเด่นจาก การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ที่มีอยู่

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ