ธปท.หวังฟินเทคลดค่าต๋ง
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน เปิดเผยถึงการเข้ามาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ในระบบการเงินของไทยว่า ขณะนี้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการฟินเทค (ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี) ได้สนใจและมาหารือกับ ธปท.เพื่อนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ มาใช้กับผู้บริโภคชาวไทย ทั้งสิ้น 25 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงิน เป็นการร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับฟินเทค และผู้ประกอบการฟินเทคอย่างเดียว โดยขณะนี้ ธปท.ได้ให้ทดสอบระบบแล้ว 1 ราย
ทั้งนี้นวัตกรรมทางการเงินที่เสนอมาประกอบด้วย 4 เทคโนโลยีใหม่ คือ
1.การนำเทคโนโลยี คิวอาร์โค้ด มาใช้ในการชำระเงิน ทั้งการจ่ายผ่านบิล จ่ายผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง หรือการจ่ายด้วยการตัดบัญชี
2.การใช้เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ในการให้บริการอื่นๆ
3.การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการทางการเงิน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ เสียง การสแกนม่านตาและใบหน้า
4.การใช้เทคโนโลยี Machine Learn และ Artificial Intelligence (AI) หรือโรบอท
“การเข้ามาของฟินเทค เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนระบบและการทำงานของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนนี้ทำให้ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง โดย ธปท.คาดหวังว่า นอกเหนือจากความสะดวกสบายของลูกค้าที่มีมากขึ้นแล้ว เมื่อต้นทุนลด ก็จะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ที่ลูกค้าต้องจ่ายลดลงด้วย ขณะเดียวกันการให้บริการการปล่อยสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของฟินเทคนั้น ในส่วนนี้ยังมีปัญหาเรื่องการรับเงินจากผู้ให้กู้มาสู่ผู้กู้ โดย ธปท.ต้องการให้ฝากเงินไว้ที่บัญชีผู้ดูแลสัญญาและผลประโยชน์ของคู่สัญญา หรือ เอสโคร์ว แอคเคาน์ ซึ่งประเทศไทยยังมีไม่มาก และค่าบริการสูง ดังนั้น จึงอยู่ระหว่างการหาแนวทางมาสนับสนุน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะ จึงจะอนุญาตให้เกิดบริการนี้ในประเทศไทยได้”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ