ธปท.ยันไทยไม่อุ้มบาท
Loading

ธปท.ยันไทยไม่อุ้มบาท

วันที่ : 20 เมษายน 2560
ธปท.ยันไทยไม่อุ้มบาท


         
วิรไท สันติประเภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไม่กังวลต่อกรณีที่สหรัฐจับตาดูประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐสูง เพราะชัดเจนว่าประเทศไทยไม่ได้บริหารอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้า จนทำให้เกิดความได้เปรียบเกี่ยวกับการค้า เห็นได้ชัด เพราะว่าตัวเลขส่งออกไทยเพิ่งจะฟื้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของเราเพิ่งมาฟื้นเอาต้นปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ยังทรงๆ และโตติดลบ ค่าเงินบาทไทยขึ้นและลงทั้งสองข้าง และต้นปีนี้ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเราก็อยู่กลางๆ เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง ดัชนีค่าเงินบาท (
NEER) แข็งค่าด้วยซ้ำไปกับบางสกุล นอกจากนี้ไทยยังไม่ใช่คู่ค้าหลักกับสหรัฐด้วย

          ทั้งนี้ เงินบาทไทยแข็งเป็นอันดับ 4 โดยต้นปีถึงปัจจุบันญี่ปุ่นแข็งค่าที่สุด 7.3% ไต้หวันแข็งค่า 6.1% เกาหลีใต้แข็งค่า 5.9% อินเดีย 5.1% เงินบาทแข็งค่าที่ 4.2% สิงคโปร์แข็งค่า 3.3% มาเลเซียแข็งค่า 1.9% อินโดนีเซีย 1.3% และหยวนแข็งค่า 0.8% ส่วนฟิลิปปินส์อ่อนค่าลง 0.1% ฮ่องกงอ่อนค่าลง 0.3% และเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง 2.4%

          "ผู้ประกอบการไทยน่าจะโชคดีที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไม่ได้ผันผวนสูงเหมือนกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ทำให้เราวางใจกันได้บ้าง เพราะถ้าเทียบกับคู่แข่งของเราส่งออกสินค้ายางพาราเหมือนกัน ไม่ว่ามาเลเซียหรือไทยก็เผชิญกับความเสี่ยงค่าเงินเหมือนกัน แต่เขาเผชิญกับค่าเงินที่ผันผวนสูงกว่าเรามากๆ" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

          กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนโครงสร้างด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนในระยะเวลา 8 ปี หากดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มปีละ 0.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพปีละมากกว่า 4% ทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ขนาดกลางได้เร็วขึ้น

          ทั้งนี้ จากการประมาณของ กระทรวงการคลัง พบว่า หากปล่อย ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ระดับใกล้ 3.5-4% ในระดับปัจจุบัน จะต้องใช้เวลา อีกถึง 15 ปี ประเทศไทยถึงจะ หลุดจากกับดักประเทศรายได้ขนาดกลางได้ ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศไทยรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น

          สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ยังมีปัญหาติดกับดักใน 3 ด้านที่สำคัญ นอกจากติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว ยังติดกับดักความเหลื่อมของความมั่งคั่ง และติดกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

          นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่ในปี 2548 ที่ผ่านมา และจะเข้าสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในอีก 8 ปีข้างหน้า มีการประเมินกันว่าปัจจุบันคนในวัยแรงงาน 5 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนในวัยแรง 2.5 คน จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเป็นภาระด้านงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ

          เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) จัดทำรายงานความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวปี 2560 ระบุว่า ปี 2559 การท่องเที่ยวสร้างรายได้ 7.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (266 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 10.2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลก สร้างงาน 292 ล้านตำแหน่ง 1 ใน 10 ของงานทั่วโลก เมื่อดูความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวหลายประเทศปรับปรุงดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิก ที่พยายามสร้างสะพานเชื่อมการเดินทางมากกว่าสร้างกำแพงกั้น ปรับกลยุทธ์ดิจิทัลอำนวยความสะดวกและให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

          ทั้งนี้ สเปนยังครองตำแหน่งประเทศที่มีความสามารถแข่งขันด้านท่องเที่ยวอันดับ 1 ในโลกเท่าปี 2558 ด้วยคะแนน 5.43 คะแนน ตามด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เมื่อดูเฉพาะในอาเซียน สิงคโปร์ ดีที่สุด อันดับที่ 13 ของโลก 4.85 คะแนน แต่ตกมา 2 อันดับจากปี 2558 ตามด้วยมาเลเซีย อันดับ 26 โดยมี 4.50 คะแนน หล่นลง 1 อันดับ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 34 โดยมี 4.38 คะแนน ดีขึ้น 1 อันดับ แต่เมื่อพิจารณาลงลึกกลับพบว่าคะแนนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานด้านภาค พื้นดินและท่าเรือของไทยได้คะแนน 3.1 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 3.5 คะแนน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ