สินเชื่อที่อยู่อาศัยปี'68ซบหนัก ยอดปล่อยกู้ใหม่เสี่ยงหดตัวแรงลบ10%
Loading

สินเชื่อที่อยู่อาศัยปี'68ซบหนัก ยอดปล่อยกู้ใหม่เสี่ยงหดตัวแรงลบ10%

วันที่ : 14 กรกฎาคม 2568
สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อบ้านยังคงต้องพิจารณาความเสี่ยงในหลายมิติ โดยลูกค้ามีความแตกต่างกันในเรื่องพฤติกรรม และกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ แตกต่างกัน เช่น ลูกค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดของโควิด ทำให้ธุรกิจไปต่อยาก จึงไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ เป็นต้น
   สินเชื่อบ้านปี'68 ไม่ฟื้น ครึ่งปีหลังส่อชะลอต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจ ไม่ดี-รายได้ไม่กระเตื้อง-หนี้ครัวเรือนสูง กดกำลังซื้อ

  
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ประเมินยอดสินเชื่อคงค้างหดตัวกว่า -1% "สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย" จับตาผลกระทบภาษีสหรัฐ ฟาก "แบงก์กสิกรไทย" ชี้สินเชื่อบ้านโตต่ำกว่า 1% ติดต่อกันปีที่ 2 มองยอดปล่อยใหม่ทั้งปีนี้เสี่ยงหดตัว -10% เร่งจับมือพันธมิตรเจาะลูกค้ากลุ่มฐานะมั่นคง

   ดร.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สินเชื่อบ้านในปี 2568 นี้ เติบโตไม่ค่อยดี และมีภาพที่แย่ลง หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยจึงได้ทบทวนตัวเลขอัตราการเติบโตสินเชื่อบ้านใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 0.6% เป็นหดตัวกว่า -1% ขณะที่สินเชื่อภาพรวมปรับจากขยายตัว 0.6% มาอยู่ -0.6%

   "จะเห็นว่าตัวเลขการปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ค่อนข้างช้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ยังไม่มา กระทบความสามารถในการกู้ และประเด็นคุณภาพสินเชื่อ โดยสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต้องระมัดระวัง โดยคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้าง สินเชื่อที่อยู่อาศัย ในปี 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 2.70 แสนล้านบาท หดตัว -1% จากปี 2567"

   ทั้งนี้ จะเห็นการไหลของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อบ้านเร็วขึ้น เพราะเป็นสินเชื่อก้อนใหญ่ ประกอบกับยอดสินเชื่อคงค้างไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ในแง่สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อบ้านขยับเพิ่มขึ้นเร็ว โดยในไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.1% เพิ่มจาก 4 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 3.88% หรือ 1.06 แสนล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปี 2568 เอ็นพีแอลจะขยับขึ้นไป อยู่ที่ราว 4.3% หรืออยู่ที่ 1.15 แสนล้านบาท "เราได้ปรับประมาณการเอ็นพีแอลในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ขยับเพิ่มขึ้นไปอยู่ใกล้ ๆ 3% หรือราว 5-5.3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี แบงก์ยังคงปรับโครงสร้างหนี้หลังบ้านกันอย่างเข้มข้น แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ก็คงต้องระมัดระวังการไหลกลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือ Reentry ด้วย"

   นายอลงกต บุญมาสุข ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อบ้านยังคงต้องพิจารณาความเสี่ยงในหลายมิติ โดยลูกค้ามีความแตกต่างกันในเรื่องพฤติกรรม และกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ แตกต่างกัน เช่น ลูกค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดของโควิด ทำให้ธุรกิจไปต่อยาก จึงไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ เป็นต้น

   "เราต้องติดตามมาตรการภาษีของสหรัฐ หากออกมาในทิศทางที่กระทบต่อการส่งออกไม่มาก เชื่อว่าตลาดสินเชื่อบ้านน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะสินเชื่อบ้านเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่การปล่อยสินเชื่อใหม่ ก็ต้องดูความเสี่ยง ดูโปรไฟล์ลูกค้า"

   นายณัฐพล ลือพร้อมชัย รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อบ้านช่วงครึ่งหลัง ปี 2568 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการเติบโตต่ำกว่า 1% เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อบ้าน อยู่ที่ 0.6% ในปี 2568 จาก 0.3% ในปี 2567 โดยมูลค่าสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศในไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 109,368 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าทั้งปีก็ยังคงมีความเสี่ยงที่สินเชื่อใหม่จะลดลงกว่า 10% เช่นกัน

   "ปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะเป็นเรื่องของอำนาจซื้อและรายได้ของภาคครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงปลายเดือน มี.ค. 2568 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการซื้อคอนโดมิเนียม ขณะที่ปัจจัยบวกที่ช่วยประคองตลาดจะเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ลดลง และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้าน/คอนโดฯ ไม่เกิน 7 ล้านบาท และการผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เป็น 100% สำหรับสินเชื่อบ้านบางกลุ่ม"

   นายณัฐพลกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยยังคงเติบโตอย่างระมัดระวัง ไม่สร้างภาระให้ผู้บริโภคที่ยังไม่มีความพร้อม หรือมีสถานะทางการเงินที่ตึงตัวจนเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน และร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ขนาดใหญ่ กระตุ้นกำลังซื้อแก่ลูกค้าที่มีฐานะมั่นคง เนื่องจากเป็นช่วงที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาดึงดูด และเป็นการช่วยส่งเสริมการฟ้นตัวเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

   "แม้หนี้ครัวเรือนจะชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินเชื่อรายย่อยโดยรวม โดยจะเห็นว่าความเปราะบางของกลุ่มครัวเรือนตามรายได้ เช่น กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีความเปราะบางสูง ภาระหนี้และค่าใช้จ่ายเต็มมือ กลุ่มรายได้ 30,000-70,000 บาทต่อเดือน เริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ และกลุ่มรายได้มากกว่า 70,000 บาทต่อเดือน มีความสามารถในการบริหารหนี้และออมเงินได้ดี แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด ธนาคารจะสามารถรักษาการเติบโตมากกว่าตลาดได้ จากฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง"
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ