สั่งเร่ง73ผังเมือง หมดอายุแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ
Loading

สั่งเร่ง73ผังเมือง หมดอายุแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

วันที่ : 24 มกราคม 2560
สั่งเร่ง73ผังเมือง หมดอายุแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

สั่งเร่ง73ผังเมืองหมดอายุ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

ตามดูผังเมืองรวมใหม่ 11 จังหวัดเน้นคุมอุตสาหกรรมหนัก หลัง "มหาดไทย"ประกาศใช้ "บิ๊กป๊อก" สั่งเร่ง 73 ผังเมืองหมดอายุ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ผังเมืองตาก รองรับเขตเศรษฐกิจ พิเศษแม่สอด-"เพชรบูรณ์" รื้อภูทับเบิก "โคราช" โรงงานหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ห้าม-หนองคาย รองรับเออีซี เชียงใหม่ เน้นพื้นที่อนุรักษ์อยุธยา แก้น้ำท่วมชุมชน ผังเมืองสงขลา ป้องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จำนวน 8 ฉบับ ลงนามโดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกอบด้วย กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดหนองคาย พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดระยอง พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสุโขทัย พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดตาก พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดกำแพงเพชร พ.ศ.2560

ขณะที่สัปดาห์ก่อน ได้ประกาศใช้กฎกระทรวง จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ.2560 กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ.2560  และกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2560

บิ๊กป๊อก สั่งเร่ง 73 ผังเมืองหมดอายุ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

มีรายงานว่า การประกาศใช้กฎกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จำนวน 11 ฉบับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศจำนวน 73 ผัง เพื่อลดปัญหาการเหลื่อม ล้ำการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท ด้วยการกำหนดให้มีผังเมืองรวมจังหวัดประกาศคลุมเป็นกรอบกว้างๆ ทั้งจังหวัด ซึ่งจะแก้ปัญหาผังชุมชนขาดอายุหรือ พื้นที่ที่ยังไม่มีผังชุมชนควบคุมได้เป็นอย่างดีในระยะยาว จากปัจจุบันมีผังเมืองรวมจังหวัดประกาศคลุมเต็มพื้นที่เพียง 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และภูเก็ต ขณะที่ผังเมืองย่อยเช่น ผังเมืองชุมชน ผังเทศบาล หรือผังย่าน แม้จะมีผังชุมชนอยู่แล้ว แต่หลายแห่งหมดอายุ 5-7 ปี ไม่สามารถต่อได้ทันตามกำหนด จะส่งผลให้พื้นที่นั้นเกิดสุญญากาศ ไม่มีผังเมืองควบคุมเปิดช่องให้นักลงทุนเข้าพื้นที่พัฒนาโดยอาศัยช่องของกฎหมายอื่น

"โดยปกติแล้วผังเมืองรวมจะมีอายุหลังประกาศใช้ฉบับละ 5 ปี โดยเมื่อครบ 5 ปีแล้วต้องมีการประกาศใช้ฉบับใหม่ทดแทน ที่ต้องกำหนดให้มีอายุการใช้งานเพราะว่า เมืองแต่ละเมืองมีการพัฒนา ความต้องการใช้งานหรือพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการพัฒนาและความต้องการของชาวเมืองอยู่ตลอดเวลา และถ้าครบ 5 ปีแล้ว แล้วไม่มีการประกาศใช้ฉบับใหม่ สามารถอนุโลมให้ใช้ฉบับเดิมไปก่อน ครั้งละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง คือใช้ต่อได้อีก 2 ปี รวมกับของเดิม 5 ปี อายุผังเมืองรวมฉบับหนึ่งจะมี 7 ปี"

สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ..แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2518 ที่จะบังคับใช้กำหนดให้ผังเมืองจะมีผลบังคับใช้โดยไม่หมด อายุ แต่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดหากในพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ร่างผังเมืองรวมจังหวัดจะประกาศได้ครบทั้ง 73 จังหวัดเร็วๆ นี้

ผังเมืองตาก รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แม่สอด-เพชรบูรณ์ รื้อภูทับเบิก

มีรายงานว่า สำหรับรายละเอียดของผังเมืองรวมที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 11 ฉบับ ส่วนใหญ่แก้มาคุมโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยพบว่า หลายจังหวัดถูกกำหนดพื้นที่สีชัดเจน บางจังหวัดกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ เช่น ผังเมืองรวมจังหวัดตาก มีข้อกำหนดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต ในด้านตะวันตกของจังหวัดที่มีกิจกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการค้า ชายแดนในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด อีกทั้งเป็นที่ตั้งศูนย์การบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด5,600 ไร่ ใน ต.แม่ปะ และท่าสายลวดที่เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน และเสนอให้ อ.แม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ รวมถึงนโยบายระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจะเชื่อมกับเมืองเมียวดีของประเทศเมียนมา และเป็นประตูการค้าด้านตะวันตกเชื่อมโยงอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ด้วย

ส่วนผังเมืองรวมจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการพิจารณาแนวที่จะสร้างถนนใหม่หลายสาย รวมถึงมีการเตรียมก่อสร้างสนามบินที่ อ.ดอนสัก และเกาะพะงัน มีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า โชว์รูมรถยนต์ มหาวิทยาลัย และบ้านจัดสรรหลายแห่ง โดยเฉพาะแนวถนนสาย 417

ส่วนผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหานายทุนบุกรุกพื้นที่สร้างรีสอร์ต จำนวนมากในพื้นที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิทัศน์ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเรื่องความปลอดภัยอาคารที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างจนอาจเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าพัก รวมถึงการก่อสร้างบุกรุกพื้นที่ของรัฐก็อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย

"ตามผังเมืองรวมได้กำหนดพื้นที่ภูทับเบิกบางส่วนเป็นที่ดินอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม โดยได้กำหนดข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการโรงแรมตามกฏหมายว่าด้วยโรงแรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม จัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัย รวมถึงการอยู่อาศัยประเภทอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ไว้แล้ว ซึ่งเมื่อกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ประกาศบังคับใช้ อบต.วังบาล มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย"

ขณะที่ผังเมืองรวม จ.ระยอง ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรร้องเรียนให้ ยกเลิกผังเมืองสีม่วงออกจากพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ผังเมืองในเขตชุมชน เป็นผังเมืองเพื่อสุขภาพ และให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดแนวป้องกัน (บัพเฟอร์โซน) พื้นที่กันชน

โคราชโรงงานหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ห้าม-หนองคาย รองรับเออีซี

ส่วนผังเมืองรวม จ.นครราชสีมา หลังจากที่เว้นว่างมานานไม่มีการบังคับใช้ถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การค้า อุตสาหกรรม มีการลงทุนและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เมืองเจริญเติบโตตามไปด้วยอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเริ่มกระจายตัวออกไปยังทั่วทุกมุมเมือง ไม่กระจุกอยู่ในเฉพาะเขตเมือง หรือพื้นที่เศรษฐกิจการค้า ส่งเสริมให้เมืองมีการพัฒนาไปอย่างมีระเบียบ สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนภายในเมืองอย่างแท้จริง ครอบคลุมทั้งจังหวัด ครบทุก 32 อำเภอ ผังเมืองรวมฉบับนี้ พบว่า โรงงานขนาดใหญ่ หลายแห่ง จะอยู่ในกลุ่มประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ห้ามประกอบกิจการ ท้ายกฎกระทรวง

ด้านผังเมืองรวม จ.หนองคาย เริ่มจากบริเวณชุมชนเมืองหนองคาย กำหนดให้เป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งทั้งในและต่างประเทศ ศูนย์กระจายสินค้าจุดผ่านแดนเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน(ค้าปลีก-ค้าส่ง) ในบริการระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมกระจายสินค้า เป็นลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชุมชนที่มีความหนาแน่นปานกลาง สามารถพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ สำนักงานบริการขนส่งทั้งในและ ต่างประเทศ กิจการศูนย์กระจายสินค้าในประเทศระหว่างประเทศ สถานีขนส่ง จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรและพาณิชยกรรมแห่งใหม่

ยังพัฒนาเป็นธุรกิจประเภทค้าปลีก-ค้าส่ง ย่านพาณิชยกรรม ห้างสรรพสินค้า อีกทั้งที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต เพื่อรองรับแหล่งงานและย่านพาณิชยกรรม กิจกรรมบริการท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต สถาบันการเงินและการลงทุน โรงพยาบาล ศูนย์บริการด้านสุขภาพ และความงามศูนย์จัดแสดงสินค้า ศูนย์การประชุมระดับจังหวัด/นานาชาติ ยังมีการประเด็นห้ามเด็ดขาดคืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป

ส่วน ชุมชนสระใคร กำหนดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะเน้นชุมชนที่มีความหนาแน่นปานกลาง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมผลิตและคลังสินค้า ที่อยู่อาศัย รองรับการขยายตัวของเมืองและรองรับแหล่งงานใหม่ อาคารที่พักอาศัยรวมย่านพาณิชยกรรมและการบริการ ธุรกิจการเงินและการลงทุน ห้างค้าปลีกค้าส่ง กิจการทางการเกษตรกรรมและกิจกรรมแปรรูปสินค้าจากการเกษตร กิจการศูนย์กระจายสินค้าในประเทศระหว่างประเทศ ห้ามคือ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง โรงมหรสพ โรงงาน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีแผนใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่ม ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนพิสัย อำเภอท่าบ่อและอำเภอศรีเชียงใหม่

เชียงใหม่ เน้นพื้นที่อนุรักษ์-อยุธยา แก้น้ำท่วมชุมชน

ขณะที่ ผังเมืองรวม จ.เชียงใหม่เป็นการยกเลิกผังเมืองรวม พ.ศ.2555 ที่มีคำสั่งยกเลิก มีสาระสำคัญให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในท้องที่ตำบลหนองหาร ป่าไผ่ หนองจ๊อม สันทรายหลวง สันนาเม็ง สันทรายน้อย สันพระเนตร อำเภอสันทราย ตำบลเหมืองแก้ว ริมใต้ แม่สา ดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลสันผีเสื้อ ช้างเผือก ป่าตัน ฟ้าฮ่าม สุเทพ หนองป่าครั่ง ศรีภูมิ ช้างม่อย วัดเกต พระสิงห์ ช้างคลาน ท่าศาลา หายยา หนองหอย ป่าแดด แม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด ตำบลสันกลาง ต้นเปา อำเภอสันกำแพง ตำบลไชยสถาน หนองผึ้ง ท่าวังตาล ป่าบง ยางเนิ้ง ชมภู ดอนแก้ว หนองแฝก สารภี ขัวมุง ท่ากว้าง อำเภอสารภี และตำบลหนองควาย สันผักหวาน น้ำแพร่ บ้านแหวน หางดง สบแม่ข่า หนองแก๋ว ขุนคง อำเภอหางดง ภายใน แนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินจำแนกไว้ท้ายกฎกระทรวง 11 โซน โดยเฉพาะโซนสีเหลืองมีเส้นทแยงสีขาวให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ เพื่อการอยู่อาศัย โซนสีเขียวมะกอกใช้เป็นที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา สีน้ำตาลอ่อนใช้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมไทย และสีเทาอ่อนใช้เป็นที่ดินประเภทสถาบันศาสนา กำหนดให้ควบคุมการสร้างอาคารสูงไม่เกิน 9 เมตร และ 12 เมตร ริมแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะให้สร้างอาคารห่างไม่น้อยกว่า 6 เมตร และบางโซนห้ามสร้างอาคารในพื้นที่รวมกันไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร และความสูงไม่เกิน 9 เมตร ยกเว้นการสร้างสำหรับใช้ส่งกระแสไฟฟ้า สัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น

ขณะที่ผังเมืองรวม จ.พระนครศรีอยุธยา มีแนวทางการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองอยุธยา มีอำเภอบางบาล บางปะหัน เสนา กำหนดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) รองรับน้ำท่วม เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี แต่ก็สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ที่ไม่ใช่โครงการบ้านจัดสรร อาจจะเป็นบ้านสร้างเองโดยมีคำแนะนำต้องยกใต้ถุนสูงอย่างน้อย 2.5 เมตร

ส่วนฝั่งตะวันออก เช่น อำเภอภาชี เป็นพื้นที่ดอน จะเปิดพื้นที่รองรับการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งได้มีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว ขณะที่พื้นที่เขตเทศบาลเมืองอยุธยาจะมีโครงการแนวป้องกันน้ำท่วม รองบฯจากโครงการบริหารน้ำสามารถทำให้พัฒนาได้

ทั้งนี้ ยังต้อง สอดคล้องกับนโยบายเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา (มอเตอร์เวย์)

ผังเมืองสงขลา ป้องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

ส่วนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา มีการพิจารณาว่าหลังปัญหาเกิดอุทกภัยซ้ำซากและรุนแรงขึ้นเป็นประจำทุกปี ประกอบกับจังหวัดมีการพัฒนาเมืองที่รวดเร็วมากเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดน รองรับ เออีซี จึงมีการเพิ่มมาตรการวางผังเมือง เช่น กำหนดเขตการสร้างที่อยู่อาศัยไม่กีดขวางทางน้ำไหล แนวป้องกันน้ำท่วม กำหนดเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น

ผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเป็นนโยบายและมาตรการที่จะประกาศเป็นกฎหมายใช้สนับสนุนและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยครอบคลุมการใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภค และการบริการสาธารณะในท้องที่ จ.สงขลา เพื่อให้ การขยายตัวของเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่อาศัย สอดคล้องกับ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา แบ่งพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. สีชมพู หมายถึง ที่ดินประเภทชุมชน อนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม สถาบันราชการ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา หรือประกอบกิจกรรมอื่นได้ในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูงเกิน 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตร.ม. หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 2,000 เมตร มีทั้งสิ้น 17 บริเวณ ได้แก่ เขตผังเมืองรวมตามกฎหมาย 9 แห่ง คือ 1) ผังเมืองรวมท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2) ผังเมืองรวมสงขลา 3) ผังเมืองรวมหาดใหญ่ 4) ผังเมืองรวมสะเดา 5) ผังเมืองรวมพะตง-พังลา 6)ผังเมืองรวมระโนด 7) ผังเมืองรวมกำแพงเพชร-นาสีทอง 8) ผังเมืองรวมปาดังเบซาร์ 9) ผังเมืองรวมบ้านประกอบ และเขตเทศบาลตำบลที่ยกฐานะจากสุขาภิบาลเดิม จำนวน 8 แห่ง คือ 10) เทศบาลตำบลบ่อตรุ 11) เทศบาลตำบลจะทิ้งพระ 12) เทศบาลตำบลควนเนียง13) เทศบาลตำบลจะนะ 14) เทศบาลตำบลนาทวี15) เทศบาลตำบลปริก 16) เทศบาลตำบลสะบ้าย้อย 17) เทศบาลตำบลเทพา

สำหรับพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อไปนี้ (1) โรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 12 ประเภท (2) โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทุกขนาด เว้นแต่โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ ติดตั้งบนหลังคา และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม (3) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (Central Waste Treatment Plant) ทุกขนาด เว้นแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และโรงงานกำจัดมูลฝอย  (4) โรงงานประเภทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่ไม่มีระบบวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (5) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ลักษณะที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย (6) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงบรรจุ สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภท ห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงเก็บ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (7) เลี้ยงงู จระเข้ หรือสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเพื่อการค้า (8)กำจัดวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย

2.สีเขียว หมายถึง พื้นที่ประเภทชนบท และเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถานที่ราชการ หรือเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ใช่อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ที่ดินเพื่อกิจการต่อไปนี้ (1) โรงงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการคุ้มครอง ความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2552 (2) โรงงานลำดับที่ 88 ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล (3) โรงานลำดับที่ 101 ตามกฎหมายว่าด้วย โรงงาน เว้นแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และโรงงานกำจัดมูลฝอย (4) โรงงานประเภทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่ไม่มีระบบวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (5) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมันลักษณะที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย(6) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง

3.) สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว หมายถึง ที่ดินประเภทอนุรักษ์ ป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครอง ดูแล รักษา หรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ได้แก่ พื้นที่ป่าตามกฎหมายทุกประเภท ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ

ที่ดินประเภทนี้ ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้นและที่ดินตามวรรคนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่ กำหนด ดังต่อไปนี้ (1) การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (2) การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ (3) การอยู่อาศัยประเภท ห้องชุด อาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม

4. สีฟ้า หมายถึง ที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ท่าเรือ การประมง สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ได้แก่ พื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลา และริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ยกเว้นชายฝั่งทะเล อ.จะนะ ให้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือ.

"ปัจจุบันมีผังเมืองรวมจังหวัดประกาศคลุมเต็มพื้นที่เพียง 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และภูเก็ต ขณะที่ผังเมืองย่อย เช่น ผังเมืองชุมชน ผังเทศบาล หรือผังย่าน แม้จะมีผังชุมชนอยู่แล้ว แต่หลายแห่งหมดอายุ 5-7 ปี ไม่สามารถต่อได้ทันตามกำหนด จะส่งผลให้พื้นที่นั้นเกิดสุญญากาศ ไม่มีผังเมืองควบคุมเปิดช่องให้นักลงทุน เข้าพื้นที่พัฒนาโดยอาศัยช่องของกฎหมายอื่น"

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

 

 

 

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ