กบข.จับมือแบงก์กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อบ้านถูกสุด0%
Loading

กบข.จับมือแบงก์กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อบ้านถูกสุด0%

วันที่ : 27 กุมภาพันธ์ 2562
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการร่วมกับแบงก์กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านใหม่ ปรับปรุง ต่อเติม และรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยถูกสุดในระบบ 0% ปีแรก เฉลี่ย 3 ปี 2.88% ต่อปี เงินกู้ไม่เกิน 100% ของราคาประเมิน ขณะที่มาตรการกำกับสินเชื่อบ้านมีผลบังคับใช้ เม.ย.นี้
          กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการร่วมกับแบงก์กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านใหม่ ปรับปรุง ต่อเติม และรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยถูกสุดในระบบ 0% ปีแรก เฉลี่ย 3 ปี 2.88% ต่อปี เงินกู้ไม่เกิน 100% ของราคาประเมิน ขณะที่มาตรการกำกับสินเชื่อบ้านมีผลบังคับใช้ เม.ย.นี้

          นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. เผยว่า กบข. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก กบข. ที่ต้องการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ปรับปรุง ต่อเติม หรือไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยเดิมจากสถาบันการเงินอื่น

          สำหรับจุดเด่นของสินเชื่อดังกล่าว คือ ให้อัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบคือ 0% ในปีแรก อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่2.88% ต่อปี ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100% ของราคาประเมิน หรือ ราคาซื้อขายจริง ผู้ขอกู้ต้องเป็นสมาชิก กบข. และเป็นลูกค้าสินเชื่อรายใหม่ของธนาคารกรุงไทยเท่านั้น

          นายวิทัย กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ ช่วยให้สมาชิกสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิทธิพิเศษนี้มอบให้สำหรับสมาชิก กบข. เท่านั้น ผู้ที่สนใจควรรีบสมัครใช้สิทธิเพราะโครงการจะหมดเขตวันที่ 30 เมษายนนี้แล้ว

          ด้านสมาชิก กบข. สามารถสมัครใช้สิทธิได้ที่ My GPF Application กดเมนูสิทธิพิเศษ แล้วเลือกแบนเนอร์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสมาชิก กบข. เมื่อกดใช้สิทธิจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับภายใน 1–2 วันทำการ หรือ สมัครใช้บริการได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ

          ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 ว่า สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงจากปัจจัยฤดูกาล โดยเฉพาะการชำระคืนหนี้ในฝั่งภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ประกอบกับธนาคารยังกังวลกับคุณภาพหนี้ของเอสเอ็มอีที่ในปี 2561 ยังมีแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ทั้งนี้ การชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีในเดือน ม.ค. มีผลให้ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อลดลงจากเดือนก่อน 6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.52% ซึ่งเป็นการลดลงเกือบทุกธนาคาร

          ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวดี จากแรงส่งของสินเชื่อหลักทั้งสินเชื่อบ้านที่ยังอยู่ในช่วงเร่งโอนรับมอบก่อนมาตรการกำกับสินเชื่อบ้านของ ธปท. จะมีผลในเดือน เม.ย. ซึ่งทำให้คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อบ้านจะยังเร่งตัวขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งบางส่วนเป็นผลจากการจองซื้อในงานมหกรรมยานยนต์และช่วงท้ายปีที่ส่งมอบรถในต้นปี ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลฯ ชะลอตามการชำระคืนหนี้
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ