ชงขึงดอกกู้รายย่อย
Loading

ชงขึงดอกกู้รายย่อย

วันที่ : 12 มีนาคม 2562
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วงว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ก็ควรจะต้องดูแลอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์อาร์) เพราะปัจจุบันก็คิดดอกเบี้ยลูกค้ากลุ่มนี้สูงกว่าลูกค้ารายใหญ่ที่เมื่อขยับดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลูกค้ารายใหญ่ก็หนีไปที่อื่น แต่ลูกค้ารายย่อยไม่มีที่ไป
          "อภิศักดิ์" แนะ ธปท.ดูแลไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ ซ้ำเติมรายย่อยและทำให้เหลื่อมล้ำมากขึ้น

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วงว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ก็ควรจะต้องดูแลอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์อาร์) เพราะปัจจุบันก็คิดดอกเบี้ยลูกค้ากลุ่มนี้สูงกว่าลูกค้ารายใหญ่ที่เมื่อขยับดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลูกค้ารายใหญ่ก็หนีไปที่อื่น แต่ลูกค้ารายย่อยไม่มีที่ไป

          "คุณเป็นห่วงหนี้ส่วนบุคคลก็ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แบงก์บีบได้ ตั้งแต่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ก็ขยับขึ้นแต่ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ไม่แตะเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่เลย คุณบอกว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ คุณทำแบบนี้มันยิ่ง เกิดการเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือเปล่า" รมว.คลัง กล่าว

          ก่อนหน้านี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ 0.125% ตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และก็ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในเวลาต่อมา

          รมว.คลัง ระบุว่า หนี้ครัวเรือนเยอะไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนที่บอกเรื่องนี้ก็ไม่ได้บอกทางแก้ไข ธปท.เป็นผู้ดูแลสินเชื่อในระบบ ซึ่งคุมมานานแล้วปล่อยให้สูงได้ยังไง และเมื่อสูงแล้วยังไง ทางกระทรวงการคลังบอกว่าหนี้ครัวเรือนสูงเทียบจีดีพีไม่มีปัญหา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 3-4% ก็เป็นอัตราปกติ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นหนี้เสียก็จะมีภาวะที่ดีขึ้น

          ด้านหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นั้น ยังไม่ถึง 80% ต่อจีดีพี การที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มนั้นมาจาก 2 เหตุผล คือ เกิดจากการที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้ส่วนบุคคลนั้นจะสร้างความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ

          สำหรับอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลกวาดล้างหนี้นอกระบบ เปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบผ่านพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ทำให้หนี้ในระบบเพิ่มขึ้นแต่หนี้นอกระบบหายไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า เพราะดอกเบี้ยถูกกว่าและไม่มีการทวงหนี้โหด

          "รัฐบาลได้มีนโยบายให้ประชาชน ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านอยู่อาศัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ให้เงินกู้ วันนี้เขาซื้อบ้านได้ก็ควรซื้อ หากรอไปอีก 10 ปี เขาก็ซื้อไม่ได้แล้ว เวลาดูหนี้ครัวเรือนต้องแยก ถ้าเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นหนี้สินที่จำเป็น และสร้างทรัพย์สินให้มีมากขึ้น เปลี่ยนจากการเช่าบ้านเป็นผ่อนบ้าน แต่ถ้าเป็นหนี้ครัวเรือนที่กู้ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เอาไปซื้อมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้นำเงินไป สร้างรายได้ หนี้แบบนี้ต้องควบคุม" นายอภิศักดิ์ กล่าว