3ธ.รัฐชี้สินเชื่อบ้านแข่งเดือด 1เม.ย.มาตรการLTVกดดันชิงลูกค้าน้ำดี
Loading

3ธ.รัฐชี้สินเชื่อบ้านแข่งเดือด 1เม.ย.มาตรการLTVกดดันชิงลูกค้าน้ำดี

วันที่ : 20 มีนาคม 2562
3 นายแบงก์รัฐประเมินแนวโน้มสินเชื่อ อสังหาฯแข่งดุเดือด หลังมาตรการคุม LTV เริ่มใช้ 1 เม.ย.นี้ "ผยง" ยันกรุงไทย ไม่นำแข่งดอกเบี้ย เหตุ MRR แบงก์ต่ำอยู่แล้ว ขณะที่ "ออมสิน" ชี้ดีเวลอปเปอร์ ได้รับผลกระทบมากกว่าแบงก์ ฟาก "ธอส." ลั่นโปรฯดอกเบี้ย 0% ไม่น่าเกิดแล้ว คาดไตรมาสแรกยอดปล่อยกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท
          3 นายแบงก์รัฐประเมินแนวโน้มสินเชื่อ อสังหาฯแข่งดุเดือด หลังมาตรการคุม LTV เริ่มใช้ 1 เม.ย.นี้ "ผยง" ยันกรุงไทย ไม่นำแข่งดอกเบี้ย เหตุ MRR แบงก์ต่ำอยู่แล้ว ขณะที่ "ออมสิน" ชี้ดีเวลอปเปอร์ ได้รับผลกระทบมากกว่าแบงก์ ฟาก "ธอส." ลั่นโปรฯดอกเบี้ย 0% ไม่น่าเกิดแล้ว คาดไตรมาสแรกยอดปล่อยกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงก่อนที่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีผลในวันที่ 1 เม.ย. 2562 นี้ ช่วงโค้งสุดท้ายที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าลูกค้ามีการเร่งโอนที่อยู่อาศัยกันอย่างมาก

          อย่างไรก็ดี สำหรับธนาคารกรุงไทย เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อมูลค่า หลักประกัน (LTV) รวมถึงลักษณะการให้กู้บ้านหลังแรก หรือหลังที่สอง เป็นเรื่องที่แบงก์มีการพิจารณาอย่าง เป็นไปตามมาตรฐานอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีผล อะไรมากนัก ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยของธนาคารก็ยังทรง ๆ เนื่องจาก ลูกค้ามีการชำระคืนหนี้ค่อนข้างมากด้วย

          ทั้งนี้ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2562 นี้ น่าจะไม่เติบโตมากนัก ซึ่งจะทำให้ตลอดทั้งปีแบงก์ต่าง ๆ จะมีการแข่งขันกันค่อนข้างดุเดือด ส่วนจะเห็นการใช้แคมเปญสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0% กันมากขึ้นหรือไม่นั้น ไม่มั่นใจ เพราะธนาคารกรุงไทยไม่ได้เป็นผู้นำการแข่งขันด้านราคา

          "หลังจากนี้คงต้องดูว่าเขาเล่นกันหนัก หรือเปล่า แต่ปกติเราไม่นิยมทางเลือกนี้ อยู่แล้ว เพราะตอนจบลูกค้าก็จะต้องกระเด้งไป (ถูกคิดอัตราดอกเบี้ย) ที่ เอ็มอาร์อาร์ (MRR) อยู่ดี แล้วเอ็มอาร์อาร์ ของเราก็ต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น การจะไปเล่นอะไรเพื่อบูตตรงนี้ก็คงไม่เหมาะ" นายผยงกล่าว

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.เป็นเกณฑ์ที่ทุกแบงก์ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่แบงก์ แต่จะไปอยู่ที่บริษัทอสังหาฯมากกว่า

          "ในเชิงของแบงก์ก็จะได้รับสินเชื่อที่ มีความเสี่ยงน้อยลง เพราะ LTV น้อยลง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ คนก็ต้องมากู้ โดยการกู้ซื้อบ้านใหม่ คนกู้ต้องคำนึงถึง เงินดาวน์ที่ต้องเตรียมไว้ ถ้าไม่มีเงินดาวน์เขาก็ไม่กล้าไปซื้อบ้าน ก็จะทำให้ดีมานด์ (ความต้องการ) ของคนที่จะซื้อบ้านลดลง สินเชื่อก็จะลดลง" นายชาติชายกล่าว

          นายชาติชายกล่าวอีกว่า การแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังจากมาตรการมีผลบังคับใช้ ก็คงยังอาจจะมีโปรโมชั่น ดอกเบี้ย 0% กันได้อยู่ เพราะเป็นคนละประเด็นกับ LTV ที่ไม่สามารถเล่นโปรโมชั่นได้ ขณะที่การเร่งปล่อยสินเชื่อช่วงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ ก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะมีลูกค้าค้างอยู่ในท่อ อยู่ในกระบวนการที่รออนุมัติเงินกู้อยู่

          "ฉะนั้น ก่อนจะใช้มาตรการก็จะมีปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น อาจจะมากกว่าปกติสัก 5-10% ก็ไม่ได้มาก ซึ่งของแบงก์ตัวเลขเดือน ก.พ.ก็มีสินเชื่อเพิ่มแค่กว่า 1,000 ล้านบาทเองไม่ได้มาก โดยปีนี้ (2562) ธนาคารออมสินตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเคหะเพิ่มขึ้นราว 50,000-60,000 ล้านบาท แต่เติบโตจริง ๆ ก็อาจจะไม่ถึง 5% เพราะมีการชำระคืนมากอยู่" นายชาติชายกล่าว

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังมาตรการของ ธปท.มีผลบังคับใช้ คงต้องดูว่า ผู้ประกอบการ (ดีเวลอปเปอร์) จะปรับตัวอย่างไร ส่วนการปล่อยสินเชื่อของแบงก์จะมีความเท่าเทียมกันเกิดขึ้น

          "ผมมองว่าแบงก์จะเกิดความ เท่าเทียมกัน เพราะถ้าไปลูกเล่น บวกนั่น บวกนี่ แล้วผิดเกณฑ์ ก็อาจจะมีปัญหา ซึ่งการแข่งขันของแบงก์ต่าง ๆ สิ่งที่จะทำได้ก็มีแค่เรื่องดอกเบี้ยกับพวกฟรี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่สามารถแข่งเรื่องวงเงินกู้ได้ เพราะ LTV ถูกล็อก โดยผมมองว่า 0% ไม่น่าจะเกิดเพราะไม่ได้สะท้อนความสามารถจริง ตอนนี้ขึ้นกับการบริหารต้นทุนของแบงก์ไหนจะเจ๋งจริงในการที่จะดึงราคาลงมา" กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าว

          นายฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับปีนี้ ธอส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 203,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกนี้คาดว่าจะปล่อยได้ 42,000-45,000 ล้านบาท