เซ็นจูรี่21 เผยผลสำรวจบ้านหลังแรก พบความต้องการบ้านที่พัฒนาโดยเอกชนสูง75.40%
Loading

เซ็นจูรี่21 เผยผลสำรวจบ้านหลังแรก พบความต้องการบ้านที่พัฒนาโดยเอกชนสูง75.40%

วันที่ : 29 มีนาคม 2562
นายธิติวัฒน์ ธีรกุลธัญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลและวิจัย "Century21 Poll" ในหัวข้อ "บ้านหลังแรก สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการเอกชน"
         นายธิติวัฒน์ ธีรกุลธัญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลและวิจัย "Century21 Poll" ในหัวข้อ "บ้านหลังแรก สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการเอกชน" โดยการสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มตัวอย่างตัวแทนผู้มีรายได้น้อยจากทั่วประเทศจำนวน 1,091 คน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 600-15,834 บาท โดยพิจารณาตามหลักประกันทางเศรษฐกิจยามชราภาพผ่านมาตรการทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          สำหรับการสำรวจความต้องการเกี่ยวกับบ้านหลังแรกที่ประกอบการโดยผู้ประกอบการเอกชน ได้ดำเนินการสำรวจใน 2 ประเด็น คือ 1.การสำรวจในประเด็นเกี่ยวกับ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นภาษี (ฉบับที่ 528) ซึ่งเมื่อปี 54 ถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่เคยเป็นเจ้าของบ้าน หรือคอนโดมิเนียมมาก่อน สามารถซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ โดยอาศัยมาตรการทางภาษีเข้ามาสนับสนุน โดยผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยต้องการบ้านหลังแรกตามนัยแห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพียง 57.10 % ไม่ต้องการ 42.90%

          ทั้งนี้ เมื่อสัมภาษณ์เพิ่มเติมพบว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ให้ข้อมูลเพื่อการวิจัย ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร สะท้อนว่า หากผู้ประกอบการเอกชนต้องการจะดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้สำเร็จ "การประชาสัมพันธ์" หรือ "การสื่อสาร" หรือ "การส่งเสริมการขาย" มีความสำคัญและปัจจัยดึงดูดหลักที่ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในความต้องการเกี่ยวกับบ้านหลังแรก ที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน กลับพบว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ให้ข้อมูลเพื่อการวิจัย ต้องการบ้านหลังแรกที่มาจากผู้ประกอบการเอกชนมากถึง 75.40%

          ส่วนประเด็น 2 ที่การวิจัยเชิงสำรวจ คือ ความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านหลังแรก ที่เอกชนเป็นผู้สร้าง ผู้ขาย และผู้จัดการด้านการเงิน ใน 7 ประเด็นย่อย ซึ่งพบว่าประชาชนแสดงความคิดเห็นในประเด็นย่อยต่างๆ ดังนี้ 1. การฟรีค่าธรรมเนียม ประชาชนที่มีรายได้น้อยแสดงความเห็นด้วย 98.40% สอดคล้องกับ "มาตรการถาวร" ในการลดค่าโอน-จำนองบ้าน สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ประกาศเมื่อ มิ.ย. 61 จาก 3% เหลือ 0.01% 2. การฟรีค่าจดจำนอง ซึ่งมีการเห็นด้วย 96.90% สอดคล้องกับ "เงื่อนไขสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ" โดยประชาชนที่มีรายได้น้อยที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว ต้องมีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ระยะการผ่อนไม่เกิน 40 ปี ไม่ต่ำกว่า 7 ปี  ทั้งนี้ สิทธิที่จะได้รับ ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง เป็นต้น โดยรับดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรก ที่ 2.50%

          3. การแถมเฟอร์นิเจอร์พื้นฐาน ซึ่งประชาชนเห็นด้วยถึง 86.90% 4. อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปีตลอดอายุการผ่อน ซึ่งมีผู้เห็นด้วย 79.60% สะท้อนว่า แม้ประชาชนที่มีรายได้น้อยจะเห็นด้วย เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย 3% แต่หากการจัดการดอกเบี้ยของผู้ประกอบการเอกชนสามารถดำเนินการดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ จะทำให้จำนวนยูนิตที่ผู้ประกอบการเอกชนสร้างไว้ สามารถขายออกได้ง่ายกว่า 5.ราคาผ่อนชำระขั้นต่ำ 3,800 บาท/เดือน มีผู้เห็นด้วย 78.50% สะท้อนว่า แม้ประชาชนที่มีรายได้น้อยจะเห็นด้วย แต่จากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมกลับพบว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยพร้อมจะผ่อนชำระมากขึ้นหากสามารถหาเงินในแต่ละเดือนได้มากขึ้น

          6. จำนวนระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 40 ปี มีผู้ห็นด้วย 72.80% และ 7. อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3-5 ปีตลอดอายุการผ่อน ซึ่งมีผู้เห็นด้วย 60.70% สะท้อนว่า แม้ประชาชนที่มีรายได้น้อยจะเห็นด้วยกับการคงที่ดอกเบี้ยตลอดอายุการผ่อน แต่อัตราดอกเบี้ยก็ยังคงเป็นปัจจัยดึงดูดที่ผันแปรหรือเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย

          ส่วนการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคในการมีบ้านหลังแรก ที่ประกอบการโดยผู้ประกอบการเอกชน ผลการสำรวจสรุปได้ว่า อุปสรรคสำคัญประกอบด้วย ความไม่ชัดเจนของกฎหมายและข้อกำหนดจากทางธนาคารพาณิชย์ 85.90% รองลงมาคืออุปสรรค ภาระหนี้ครัวเรือนที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้59.70% และอุปสรรคเงินดาวน์ 45.50% เมื่อทำการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) เพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสรรคเกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือข้อกำหนดของธนาคารพาณิชย์ พบว่า หากผู้ประกอบการเอกชนร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น อุปสรรคเหล่านี้จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ