ธุรกิจอสังหาฯน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจซบฉุดตลาดคอนโด-บ้านติดลบ
Loading

ธุรกิจอสังหาฯน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจซบฉุดตลาดคอนโด-บ้านติดลบ

วันที่ : 18 กันยายน 2562
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และการรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่าในปีนี้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์จะติดลบ 7% โดยตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่าจะติดลบ 14% และตลาดบ้านแนวราบจะติดลบ 4%
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และการรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่าในปีนี้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์จะติดลบ 7% โดยตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่าจะติดลบ 14% และตลาดบ้านแนวราบจะติดลบ 4% ส่วนใหญ่เป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และจากมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) สำหรับครึ่งปีแรก ที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์ติดลบ 5% ถึงแม้ในช่วง 3 เดือนแรก ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวมากกว่า 10% ซึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการเร่งการโอนกรรมสิทธิ์ หรือทำสัญญา ก่อนที่มาตรการ LTV จะมี ผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ไตรมาส 2 หลังจากมาตรการอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้แล้วทำให้ภาพรวมชะลอลงมากกว่า 10% และทำให้ครึ่งปีแรกติดลบ 5% ดังกล่าว ส่วนภาพรวม ในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในทุกประเภท ทั้งคอนโดมิเนียม และที่อยู่อาศัยแนวราบ

          "คอนโดฯ เป็นตลาดที่น่าเป็นห่วงเพราะติดลบค่อนข้างสูงหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยคอนโดฯในไตรมาสที่ 1 ติดลบ 14% ไตรมาส 2 ติดลบ 20% ไตรมาสที่ 3 ติดลบ 14% และคาดว่าไตรมาสที่ 4 จะติดลบถึง 20% โดยปีนี้มีจำนวนหน่วยผัง เหลือขาย หรือสินค้าที่ทั้งวางแผนก่อสร้างและเปิดตัวและสร้างเสร็จสูงถึง 1.5 แสนยูนิต ขณะที่ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.3 แสนยูนิต เท่านั้น"

          ปัจจุบันมีสินค้าเหลือขายในตลาดจำนวนมาก ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวโดยการเลื่อนเปิดตัว หรือเปิดตัวระหว่างก่อสร้างมีการขายดาวน์ไปก่อน ขณะเดียวกันก็เร่งขายโครงการเก่าให้หมดไม่เช่นนั้น จะเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และได้รับเงินคืนกลับมาช้าสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอลง เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากมาตรการ LTV โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่กลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่อการลงทุนชะลอการซื้อ ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมทั้งหมด 60,000 ยูนิต ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

          สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปริมาณหน่วยที่อยู่อาศัย รอการขาย ทั้งส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว กำลังก่อสร้าง และยังไม่ก่อสร้าง ครึ่งปีแรกมีอยู่ 1.5 แสนหน่วย เมื่อเทียบกับ ค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ระดับ 1.3 แสนหน่วย สูงเกินไป 2 หมื่นหน่วย แต่จากการสอบถามผู้ประกอบการยังเชื่อว่าจะสามารถระบายสต๊อกได้ และยังไม่เกิดเหตุซ้ำรอยวิกฤติปี 2540 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับราคาซื้อขายจริง หลังหักโปรโมชั่น แล้ว ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2-3% โดยเอกชนต้องเร่งปรับตัว ด้วยการชะลอการเปิดโครงการแนวสูง และขยายโครงการ แนวราบ โดยเฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gen Y ที่ทำงานมาระยะหนึ่ง ถึงเวลามีบ้านเป็นของตนเอง