รถไฟฟ้ากระจายทั่วกรุง ดันราคาที่ดินพุ่ง3-5เท่า ต้นทุนล็อกคอนโดฯ-หวั่นกำลังซื้อเอื้อมไม่ถึง
Loading

รถไฟฟ้ากระจายทั่วกรุง ดันราคาที่ดินพุ่ง3-5เท่า ต้นทุนล็อกคอนโดฯ-หวั่นกำลังซื้อเอื้อมไม่ถึง

วันที่ : 31 ตุลาคม 2562
ในอดีตการขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะล้อไปกับการโครงข่ายระบบสาธารณูปโภค ซึ่งใน แต่ละปีจะมีการก่อสร้างถนน และตัดเส้นถนนเพิ่มเติม โดยเฉพาะรอบๆกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการขยาย เส้นทางเดินทางออกไปอย่างต่อเนื่อง
          อสังหาริมทรัพย์

          ในอดีตการขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะล้อไปกับการโครงข่ายระบบสาธารณูปโภค ซึ่งใน แต่ละปีจะมีการก่อสร้างถนน และตัดเส้นถนนเพิ่มเติม โดยเฉพาะรอบๆกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการขยาย เส้นทางเดินทางออกไปอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันผู้ประกอบ การในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ธุรกิจโรงแรมต่างให้ความสำคัญกับจุด "ขาย" ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้า ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเส้นที่มีความสำคัญ เนื่องจากวิ่งผ่าเข้าสู่ศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) และมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายออกไปอย่างต่อเนื่องตามแผน แม่บท เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือจากห้าแยกลาดพร้าวไปยังคูคต คาดว่าปลายปีนี้จะเปิดให้บริการไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำต่อไปถึงลำลูกกา คลอง 5 แต่ต้องรอให้ความหนาแน่นในพื้นที่มากกว่านี้ก่อน เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวทางใต้ แบริ่งสมุทรปราการ มีแผนจะขยายไปถึงบางปู ซอย 95 ก็ต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่งเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม ในอดีตการตัดถนน อาจจะเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญ แต่ปัจจุบัน หนึ่งในดัชนีชี้วัดถึงภาพรวมเศรษฐกิจก็คือ "ราคาที่ดิน" และสำหรับพื้นที่ในกุรงเทพฯปริมณฑล ที่ดินแปลงใดอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า ก็จะดูมีอนาคตและมีมูลค่าเพิ่มทันที !!

          * ไทยจะกลายเป็น "มหานคร" แห่งระบบราง

          นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (โครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP+เพิ่มเติม ตั้งแต่ปี 2553-2572) จะทำให้มีระบบรางรวม 14 เส้นทาง ระยะทางถึง 557.56 กิโลเมตร (กม.) และผลที่จะตามมา คือ จะมีจุดเชื่อมต่อกระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลถึง 56 จุด จะทำให้มีศูนย์กลางธุรกิจขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ซึ่งกรุงเทพฯ จะเป็นมหานครแห่งระบบราง อันดับ 3 ของโลก (อันดับ 1 เมืองเซี่ยงไฮ้ อันดับ 2 กรุงโซล อันดับ 3 ไทย และอันดับ 4 อังกฤษ)

          "ภาพที่จะเห็นข้างหน้า เมืองกำลังหลวมๆ มากขึ้น จากการขยายรถไฟฟ้า แต่ก็คิดว่า พฤติกรรมของคนไทยยังอยากอยู่ในเมืองอยู่ดี เพราะมีทุกอย่าง แต่ก็อยากให้ ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ดูแผนดีๆ คิดดีๆ บางครั้งลงทุนก่อน อย่างเช่น สายสีม่วง เปิดบริการมา 3 ปีแล้ว ก็เริ่มมีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการจาก 20,000 คน เพิ่มเป็น 80,000 คน หรือแม้แต่เส้นที่วิ่งไปทางจรัญสนิทวงศ์ อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แม้ว่าตอนนี้ยอดขายโครงการอาจจะช้าไปบ้าง"

          อย่างไรก็ตาม ในพิมพ์เขียวแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ระยะที่ 2 (M-MAP2) จะมีการขยายรัศมีพื้นที่ศึกษาออกไปอีก 20 กม.เป็น 40 กม. โดยศึกษา 5 เส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ รวมระยะทาง 131 กม.ได้แก่

          สายที่ 1 รังสิต-ธัญบุรี ระยะทาง 12 กม. เพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และยังเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          สายที่ 2 ส่วนต่อขยายสายสีเทาช่วงรามอินทราลำลูกกา ระยะทาง 14 กม. เพื่อรองรับการเติบโตของจังหวัดปทุมธานี มีเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-ลำลูกกา

          สายที่ 3 บางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ ระยะทาง 12 กม. แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะวงแหวนรองรับพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าเข้าถึง โดยสายสีน้ำตาลเป็นช่วงหนึ่งในแนวเส้นทางนี้

          สายที่ 4 หลักสี่-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ถนนบรมราชชนนี) ระยะทาง 30 กม. แนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งทางรางเข้าสู่ตัวเมือง

          และ สายที่ 5 สถานีแม่น้ำ-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 33 กม. เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ และรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ

          * รถไฟฟ้ากระจายไปทั่ว ดันราคาที่ดินเพิ่ม 3-5 เท่า

          นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า บริษัทยังคงให้ความสนใจกับที่ดินใกล้แนวรถไฟฟ้า เช่น แปลงเตาปูนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ หรือ แม้แต่เส้นจรัญสนิทวงศ์ (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) ที่ LPN มีฐานลูกค้าใหญ่อยู่โซนปิ่นเกล้าจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้บริษัทฯกำลังเจรจาจัดซื้อที่ดินเพิ่มอีก 2 แปลง เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแนวสูงและคอนโดฯโลว์ไรส์ ราคาขายทั้ง 2 โครงการเฉลี่ย 70,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งหากจบได้เร็วจะสามารถเปิดโครงการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563

          สำหรับปัจจัยระยะยาวที่มีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น นายโอภาสฉายภาพให้ฟังว่า ปัจจัยแรก ต้นทุนที่หนักที่สุดคือ ต้นทุนที่ดิน ปัจจุบันราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว และไม่ได้เป็นเฉพาะบางบริเวณ แต่ปัจจุบันรถไฟฟ้ากระจายไปทั่ว ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และเมื่อราคาที่ดินสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการพัฒนาโครงการสูงขึ้น มีผลต่อราคาขายเช่นกัน ซึ่งราคาขายที่สูงขึ้นเกินกว่าประชากรส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯจะสามารถรับได้แล้ว และคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯเงินเดือนหลักแสนบาท ต่อเดือนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีเงินเดือนประมาณ 20,000 50,000 และ 80,000 บาท ซึ่งจะไม่สามารถซื้อบ้านในโครงการที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้ อันนี้เป็นข้อกังวล เรื่องต้นทุนที่มีผลกระทบ (effect)

          ปัจจัยที่สอง คือ เมื่อต้องมีต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการกระจุกตัวในการพัฒนาโครงการ ตอนนี้สินค้ากระจุกตัวอยู่ระดับกลางและบน ส่วนกลางลงล่างน้อยมาก และปีหลังๆ ผมเริ่มเห็นผู้ประกอบการหันมาทำโครงการระดับราคากลางลงล่างบ้าง ต่างจาก 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีผู้ประกอบการเข้ามา อันนี้น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อกระจุกตัวแล้ว และเมื่อมันระเบิดก็ไปกันหมด โดยสินค้าที่ขายให้กับคนจีน ที่ขาย 2 ปีที่ผ่านมาและจะทยอยเสร็จปีหน้าและปีถัดไป ก็ยังเป็นห่วงอยู่ เพราะถ้าการนำเงินออกนอกประเทศของจีน ไม่เป็นไปตามที่คิด โอนไม่ได้ตามที่วางไว้ ซัปพลายที่ขายให้กับคนจีน จะระเบิดหรือไม่ ตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้นในตรงนั้น ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น และก็ไม่อยากคิดด้วย ผมรู้สึกว่า ค่อนข้างน่ากลัว และเป็นตลาดที่คนกรุงเทพฯไม่สามารถซื้อได้

          ปัจจัยที่สาม คือ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ นับวันจะบีบเข้ามาเรื่อยๆ ที่ห่วงคือ จะกระทบกับต้นทุน เรื่องเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ระยะที่ผ่านมา EIA จะมีการเพิ่มมาตรฐานต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เป็นต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องรับจากการเพิ่มขึ้นของมาตรฐานต่างๆ เราเข้าใจเรื่องการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่คำถามคือ ความพอดี อยู่ตรงจุดไหน

          ปัจจัยที่สี่ เรื่อง สิทธิข้างเคียง เป็นประเด็น เพราะโลกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้กันหมด และเมื่อมีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่เกิดขึ้น รับรองคงไม่มีใครอยากเห็นตึกสูงอยู่ใกล้บ้านตัวเอง ต่อไปการทำคอนโดมิเนียมจะเป็นเรื่องที่ยากมาก และต้องให้ความสำคัญ ละเอียด และรอบคอบมากๆ เพราะถ้าเลือกซื้อที่ดินผิดแล้ว การจะไปสร้างคงไม่ได้ แค่มีปัญหาโครงการเดียว ก็แย่แล้ว ตรงนี้เป็นความเสี่ยงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

          * เจ้าของที่ดินขายทิ้ง ไม่คุ้มถือครองเจอภาษีที่ดินฯ

          "ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ตามมาตลอดและตามเราต่อไป ไม่ว่าจะเรื่อง EIA เข้มข้นขึ้น ที่ดินก็อย่างดีทรงตัว ราคาไม่ลง ทุกคนต้องหาทางทำอย่างไรให้ธุรกิจตัวเองเดินไปได้ โดยเฉพาะช่วงที่รถไฟฟ้าสร้างกันเยอะๆ มีผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ผมอาจจะไม่มีข้อมูลเชิงลึก แต่เราดูจากที่เราจับที่ดินเอามาพัฒนา หรือมีคนเสนอเข้ามาปรับขึ้นไปถึง 3-5 เท่าตัว สมัยก่อนที่ดินบางแปลง 30,000 บาทต่อตารางวา ปัจจุบันเป็นแสนกว่าบาท ที่ดินบางแปลง 90,000 บาท ตอนนี้ 3 แสนบาท ที่ดินบางแปลง 50,000 บาท เป็น 5 แสนบาท" นายโอภาสกล่าว และชี้ว่า เรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจมีผลต่อราคาที่ดินปรับตัวลง แต่ขอย้ำว่า มีเฉพาะคนที่ถือที่ดินไว้ แล้วไม่มีเงินพอที่จะเก็บมันไว้ แปลงไม่มีศักยภาพ ถ้าคนที่มีกำลัง ก็เก็บที่ดินไว้ แต่ก็ยอมรับว่า หลายๆ แปลงที่หลุดเข้ามาในพอร์ต LPN ก็เป็นเรื่องภาษีที่ดินฯ

          "ถามว่า ห่วงอสังหาฯเส้นไหนของรถไฟฟ้า ต้องบอว่า บางช่วงดี บางช่วงไม่ดี สายสีน้ำเงิน ถ้าวิ่งไปสู่เขตธุรกิจก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าไปวิ่งโซนพักอาศัย ก็ต้องรอเวลา แต่อนาคตจะดีขึ้นมาได้ สำคัญที่สุด คือ ราคาที่ดินถ้า ไม่เท่ากับราคาในเมือง ก็ทำได้ ยกเว้น ราคาที่ดินสายสีน้ำเงินไปเท่ากับสายสีเขียวสุขุมวิท โครงการก็ไปลำบาก"

          * "จอยเวนเจอร์" เจ้าบุญทุ่มปั่นราคาที่ดินในเมือง

          แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ด้วยราคาที่ดินในเมืองที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในเมืองทำด้วยความยากลำบาก และคงมีแต่เพียงผู้เล่นไม่กี่ราย ที่พอมีกำลังเงินในการจะใส่เงินเพื่อซื้อที่ดินมาพัฒนาโครงการ ส่งผลให้รูปแบบของการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมจะเปลี่ยนไปสู่ระดับพรีเมียมมากขึ้น แต่การที่บริษัทพัฒนาอสังหาฯได้เสริมสร้างจุดแข็งทางด้านการเงิน ผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ (จอยเวนเจอร์) โดยเฉพาะกับบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้บริษัทเอกชนของไทย มีโอกาสในการหา "ที่ดิน"ในเมืองมาพัฒนาโครงการคอนโดฯได้อย่างเต็มที่

          "เราเป็นห่วงเรื่องของราคาที่ดินในเมืองที่สูงเกินความเป็นจริง เนื่องจากอสังหาฯที่มีพันธมิตรจากต่างประเทศ กล้าซื้อที่ดินแพงๆ เป็นการปั่นราคาที่ดินให้เวอร์ไป แล้วทำโครงการขายในราคาที่สร้างมาตรฐานราคาขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย และคิดว่า เส้นรถไฟฟ้าเส้นสายสีน้ำเงิน และสีเขียวส่วนต่อขยาย จะต้องระมัดระวังในการลงทุนพัฒนาโครงการ เนื่อง จากมีซัพพลายไปรอกำลังซื้อเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก" แหล่งข่าวกล่าว

          * ศูนย์ข้อมูลฯเผยไตรมาส 3 ราคาที่ดินปรับขึ้น 17%

          ขณะที่หน่วยงานด้านข้อมูลที่อยู่อาศัยระดับประเทศอย่างศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังระบุชัดเจนว่า ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไตรมาส 3 ปี 2562 มีค่าดัชนีเท่ากับ 256.5 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 236.9 จุด และปรับเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน (ไตรมาส 3 ปี 61) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 219.2 จุด

          โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า  "การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่จะพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรชานเมืองมากกว่าพื้นที่ใจกลางมือง รวมทั้งเป็นพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้"

          สำหรับ 5 อันดับทำเลที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ไตรมาสนี้ อันดับ 1  เป็น เขตบางกรวย-บางใหญ่บางบัวทอง-ไทรน้อย มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 61.4 % เนื่องจากมีการเปิดหน้าดินใหม่จากการก่อสร้างแล้วสำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และ บริเวณนี้ยังมีแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานนทบุรี 1-กาญจนาภิเษก และถนนนครอินทร์-ศาลายา ในอนาคต

          อันดับ 2 จังหวัดนนทบุรีมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 48%

          อันดับ 3 เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 47%

          อันดับ 4 เขตบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่มีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบังมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 35.6% และอันดับ 5 ลาดพร้าว-บางกะปิ-วังทองหลาง-บึงกุ่ม-สะพานสูงคันนายาว เพิ่มขึ้น 35.3%

          * ที่ดินเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวพุ่ง 39.7%

          สำหรับทำเลเฉพาะที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน 5 อันดับแรกที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ได้แก่

          1. สายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) ซึ่งเป็นโครงการที่ยังไม่ก่อสร้างเนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่สร้างเสร็จ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 39.7% และจะเปิดให้บริการในต้นปี 2563 ซึ่งบริเวณนี้มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมาหลายไตรมาสแล้ว

          2. สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มีอัตราการเปลี่ยน แปลงของราคาเพิ่มขึ้น 32.5% ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคืบหน้าสร้างไปแล้ว 42.1% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564

          3. สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) เป็นโครงการในอนาคตซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากสายสีเขียว (แบริ่งสมุทรปราการ) แม้ว่าขณะนี้ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่ราคาที่ดินมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 28.7% เช่นเดียวกับสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการไปแล้วประมาณ 1 ปี

          4. สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ซึ่งเป็นโครงการในอนาคตมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 22.5%

          5. สายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) เป็นโครงการในอนาคตมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 16.8%

          * จับตาคอนโดฯแนวรถไฟฟ้า ดั๊มป์ราคารับมาตรการรัฐ

          สำหรับการประกาศใช้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เหลือ 0.01 ซึ่งจะมี ผลทันทีเมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศจนไปถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นั้น ได้เป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยมาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท โดยผลของมาตรการดังกล่าว ทำให้คาดว่า ซัพพลายที่มีอยู่ประมาณ 1.8 แสนหน่วยจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ของรัฐบาล

          ทั้งนี้ ทางศูนย์ข้อมูลฯ ได้ประเมินว่า ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ หากไม่มีปัจจัยบวกมาพยุงเศรษฐกิจ ก็คาดตลาดรวมอสังหาฯจะติดลบเกินกว่า 7% และยอดโอนกรรมสิทธิ์ จะติดลบเช่นกัน แต่ผลจากมาตรการดังกล่าว จะทำให้ไตรมาส 4 จะมีความคึกคัก และผลักดันให้ปี 63 ภาพรวมของอสังหาฯ มีภาพที่สดใสขึ้น

          "ซัพพลายคอนโดฯส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า ทำให้เชื่อว่า ผู้ประกอบการจะจัดแคมเปญอย่างหนัก ในกระตุ้นยอดขายและเร่งโอน เนื่องจากแต่ละบริษัท อสังหาฯ แบกสต๊อกคงค้างไว้หลายหมื่นล้าน ทำให้ต้องเร่งการก่อสร้าง เพื่อให้เข้ากับเกณฑ์ของมาตรการ" .

          "ถามว่า ห่วงอสังหาฯเส้นไหนของรถไฟฟ้าต้องบอกว่า บางช่วงดี บางช่วงไม่ดี สายสีน้ำเงิน ถ้าวิ่งไปสู่เขตธุรกิจ ก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าไปวิ่งโซนพักอาศัย ก็ต้องรอเวลา แต่อนาคตจะดีขึ้นมาได้ สำคัญที่สุด คือ ราคาที่ดินถ้าไม่เท่ากับราคาในเมือง ก็ทำได้ ยกเว้นราคาที่ดินสายสีน้ำเงินไปเท่ากับสายสีเขียวสุขุมวิท โครงการก็ไปลำบาก"
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ